สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 1 ปี 2553 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียในช่วงต้นและปลายไตรมาสมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากตลาดประเทศจีนตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับปริมาณแนฟธาจากยุโรปไหลเข้าสู่เอเซียลดลงจากการที่พรีเมียมและค่าขนส่งในยุโรปเพิ่มขึ้น รวมถึงอินเดียส่งออกแนฟธาลดลงเพราะผู้ผลิตประเมินว่าความต้องการในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากผ่านช่วงปิดปรับปรุงและซ่อมบำรุงแครกเกอร์ในภูมิภาค ส่วนช่วงกลางไตรมาสราคาแนฟธา ปรับลดลงเล็กน้อย สาเหตุจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันและความต้องการจากตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีน้อยโดยเฉพาะจากจีนเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน ส่วนราคาเอทิลีนในช่วงต้นไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาอีเทนและแนฟธา อีกทั้งอุปทานเอทิลีนมีจำกัดจากแครกเกอร์หลายแห่งปิดปรับปรุงและซ่อมบำรุง รวมทั้งมีการสต็อกสินค้าจากผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายไว้สำหรับการผลิตในช่วงปลายไตรมาส ส่วนช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการจากตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องโดยเฉพาะ PP มีน้อย ประกอบกับมีอุปทานจากตะวันออกกลางเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดจากแครกเกอร์แห่งใหม่ในอินเดีย สิงคโปร์และไทย

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ช่วงต้นไตรมาสต่อเนื่องถึงกลางไตรมาสราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้ปลายทางมีเข้ามามากเพื่อทำการสต็อกสินค้าหลังจากที่มีการบังคับใช้ AFTA เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนช่วงปลายไตรมาสราคามีการปรับตัวลดลง เนื่องจากการปรับลดลงของราคาเอทิลีน ประกอบกับความต้องการจากผู้ใช้ปลายทางมีน้อยโดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย

การผลิต

ไตรมาส 1 ปี 2553 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตโพรพิลีน ขนาด 60,000 ตัน/ปี โรงงานผลิต PP ขนาด 450,000 ตัน/ปี ในช่วงกลางไตรมาสแรกของปี 2553 ปิดซ่อมบำรุงแก๊สแครกเกอร์ขนาด 460,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2553 แครกเกอร์ขนาด 515,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 นอกจากนี้แผนการเปิดดำเนินการแนฟธาแครกเกอร์ขนาด 900,000 ตัน/ปี โดยแครกเกอร์ดังกล่าวมีกำลังการผลิตเอทิลีน 900,000 ตัน/ปี และ โพรพิลีน 800,000 ตัน/ปี รวมถึงมีแผนเปิดดำเนินการผลิต LDPE แห่งใหม่ขนาด 300,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2553

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ มีแผนเปิดคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ดังกล่าวประกอบด้วย เอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 800,000 ตัน/ปี โพรพิลีน 450,000 ตัน/ปี เบนซีน 230,000 ตัน/ปี โรงงานผลิต MEG ขนาด 750,000 ตัน/ปี โรงงานผลิต butadiene ขนาด 155,000 ตัน/ปี และแผนการปรับปรุงโรงกลั่น โดยโครงการทั้งหมดมีแผนเปิดดำเนินการภายในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2553

รัฐบาลอินเดีย มีแผนร่วมลงทุนเพื่อก่อสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศและโครงการ LNG ในประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการวางแผน นอกจากนั้น มีแผนเปิดดำเนินการแนฟธาแครกเกอร์แห่งใหม่ ขนาด 857,000 ตัน/ปี โรงงานผลิตโพลิเมอร์ขั้นปลายซึ่งรวมถึงหน่วยผลิต PP ขนาด 600,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิต polyethylene ขนาด 650,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 หรือต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

จีน เปิดดำเนินการแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเอทิลีนและโพรพิลีน เพื่อรองรับความต้องการของปิโตรเคมีขั้นปลาย แครกเกอร์นี้ประกอบด้วย โรงงานผลิต LLDPE ขนาด 300,000 ตัน/ปี โรงงานผลิต HDPE ขนาด 300,000 ตัน/ปี และ โรงงานผลิต PP ขนาด 450,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2553 นอกจากนั้น มีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลายในสาย Monoetylene glycol (MEG) ขนาด 650,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

การ์ตา เปิดดำเนินการอีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งแครกเกอร์นี้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเอทิลีนให้กับโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลายและทำให้สามารถส่งออกเอทิลีนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 150,000 ตัน โดยมีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2553

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2553 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก(ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนมีนาคม 2553 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 47.82, 42.10 และ 45.06 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE, HDPE และ PP มีระดับราคาเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ระดับราคา 45.41, 41.64 และ 40.08 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 1 ปี 2553 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,865.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 128.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 7,022.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 25,057.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 120.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 1 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 8,785.38 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 10,798.15 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 38,879.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก Demand ผู้บริโภคขยายตัว และการขยายกำลังการผลิตในหลายประเทศทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปิดเสรีเขตการค้า AFTA ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมตลอด Supply Chain สำหรับประเทศไทย ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ วิกฤตการทางการเมืองในประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท และต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยการวิเคราะห์จุดแข็งและขีดความสามารถของตน รวมถึงการปรับแผนการผลิตไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดแทนการขยายกำลังการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้การปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และไม่ควรละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ