สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม (ไม่รวมกระดาษลูกฟูก) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต 122.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 16.9 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม (ไม่รวมกระดาษลูกฟูก) ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนภาวะการผลิตกระดาษลูกฟูก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวม(ไม่รวมกระดาษลูกฟูก) (ตารางที่ 1) สำหรับสาเหตุที่ดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของเยื่อกระดาษและกระดาษเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคของผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าคงคลังลดลง ประกอบกับไตรมาสนี้อยู่ในช่วงการผลิตแบบเรียน หนังสือสมุด สำหรับนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศที่จะเปิดภาคเรียนที่ 1 ในไตรมาสหน้า นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของภาคการส่งออกทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการใช้กระดาษเพื่อห่อหุ้มปกป้องสินค้าในการขนส่ง ฉลากสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ หรือเอกสาร/คู่มือประกอบการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 158.7 317.6 และ 79.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 9.9 และ 75.2 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน (ตารางที่ 2) หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าในแต่ละสินค้า พบว่า ปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 3) เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษทุกประเภทเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง เพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ เป็นสำคัญ ส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากราคาเยื่อใยยาวในตลาดโลกไตรมาสนี้สูงขึ้นประมาณ 900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จาก 820 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในไตรมาสก่อน โดยประเทศไทยมีการนำเข้าเยื่อใยยาวประเภทกึ่งฟอกหรือฟอกจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และสวีเดน เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่มีคุณสมบัติในการยึดเกี่ยวกันได้สูง ทำให้กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีความแข็งแรง ทนต่อแรงดึงและแรงฉีกขาดได้ดี สำหรับปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่ายและรูปภาพมากที่สุดจากประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รองลงมา คือ สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือตำราเรียน จากประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 24.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.7 (ตารางที่ 4) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (ตารางที่ 5) เนื่องจากราคาเยื่อใยสั้นในไตรมาสนี้สูงขึ้นอยู่ที่ 660-790 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จาก 580-660 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในไตรมาสก่อนนอกจากนี้ ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ สิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยนำเข้าเยื่อกระดาษจากไทยลดลง โดยหันไปนำเข้าจากบราซิลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 319.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และ 23.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเล็กน้อยสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 5) โดยมูลค่าการส่งออกของกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษโดยรวมมีการขยายตัวในตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แต่หากเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกกับมูลค่าการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์ ในไตรมาสนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตลาดญี่ปุ่นมีการขยายตัวสูง โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษชำระ และกระดาษเช็ดหน้า

ภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 554.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 13.9 และ 44.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) เป็นผลมาจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปประเทศฮ่องกงอย่างต่อเนื่องเหมือนทุก ๆ ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกถึงร้อยละ 90 เมื่อพิจารณาประเภทสิ่งพิมพ์ที่ส่งออกไปยังประเทศฮ่องกงตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พบว่า เป็นสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง พิกัด 4907 อีกทั้งสิ่งพิมพ์โดยรวมมีการขยายตัวในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกไปประเทศฮ่องกง นอกจากนี้ หากพิจารณาปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 5) เป็นผลสืบเนื่องจากมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 100 ซึ่งสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มีน้ำหนักเบา และราคาค่อนข้างสูงกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

3. สรุปและแนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้การบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศกระเตื้องขึ้น ประกอบกับสินค้าของไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติ เนื่องจากคุณภาพงานได้มาตรฐานสากล และผู้ประกอบการมีการวางกลยุทธ์ขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสนี้ เนื่องจากปัจจัยบวกด้านกำลังซื้อจากในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีการผลิตสมุด หนังสือ ตำราแบบเรียน เพื่อเตรียมรองรับการเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษาทั้งประเทศ แต่ยังคงมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่นัก อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตรัฐบาลมีการอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน และให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งกำหนดให้ภาษีมูลค่าเพิ่มของหนังสือและสิ่งพิมพ์เป็นศูนย์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ผู้บริโภคจะสามารถซื้อหนังสือและสิ่งพิมพ์ได้ถูกลง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ