สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 ปริมาณการผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.18 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.40 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดและการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.84 และ 12.71 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.29 และ 9.43 ตามลำดับ

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 7.78 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.33 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.45 ล้านตันโดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.24 และ 8.06 ตามลำดับ

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากอยู่ในฤดูกาลก่อสร้างรวมทั้งภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณรวม 3.65 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5,115.27 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 2.06 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,334.10 ล้านบาท และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 1.59 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,781.17 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.62 แต่มูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 และ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.35 และ10.67 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียนยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับตลาดส่งออกแหล่งใหม่ ได้แก่

กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกายังคงขยายตัวได้ดี สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมา คือ บังคลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม ตามลำดับ

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณรวม 3,220.33 ตัน คิดเป็นมูลค่า 45.63 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 186.19 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.63 ล้านบาท ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,034.14 ตัน คิดเป็นมูลค่า 43.00 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.16 และ 16.46 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

3. สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดปูนซีเมนต์จะเริ่มขยายตัวจากกลุ่มที่อยู่อาศัย และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในไตรมาสที่ 2/2553 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาลด้วย

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทย ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และมีการสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการจัดกีฬาซีเกมส์ในอีก 2 - 3 ปี ข้างหน้าด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียน และตลาดส่งออกแหล่งใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกายังคงขยายตัวได้ดี ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (อาฟต้า) เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ต้นทุนสามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ เพราะมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีของไทยเอง สำหรับตลาดส่งออกแหล่งใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกายังคงขยายตัวได้ดี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ