สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากปัญหาทางการเมืองของไทยในขณะนี้ การจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม และผ้าผืนในประเทศได้รับผลกระทบแล้ว แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อลูกค้าต่างประเทศ เพราะสามารถสั่งซื้อทางอีเมล์โทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ ได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมสิ่งทอคือราคาฝ้ายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าผลผลิต และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการเจรจารับคำสั่งซื้อ ทั้งโรงงานปั่นฝ้าย ทอผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะแต่ละฝ่ายเริ่มมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศก็ได้ต่อรองราคามากขึ้น

1. การผลิต

ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 โดยพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อาทิการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) ลดลงร้อยละ 1.3 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 13.8 และ 2.2 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1, 21.1 และ 0.2 ตามลำดับ เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก และแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะที่โดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 1,762.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 1,717.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,504.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 639.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 633.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 675.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 42.5 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 321.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 326.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 270.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 237.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 139.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 170.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 92.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นหนึ่งในตลาดหลักสำหรับการส่งออกสิ่งทอของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอไทยไปสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 347.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 19.7 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ และผ้าผืน ตามลำดับ

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 324.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

อาเซียน ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 302.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.1 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 119.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ อื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,223.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 47.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 93.9 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 205.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 189.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 26.8, 16.2 และ 8.0 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 150.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 130.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 22.9, 18.2 และ 12.6 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 344.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 340.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 45.0,16.2 และ 7.9 ตามลำดับ

4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 51.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ จีน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 31.7, 21.2 และ 10.1 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 79.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 76.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.1 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 47.7, 12.6 และ 4.8 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นการผลิตเริ่มฟื้นตัวแม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม สิ่งทอไทยมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น และ อาเซียน เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ซึ่งทำให้การค้าขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ และลดการพึ่งพาการส่งออกยังตลาดสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 25 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แต่ในปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือร้อยละ 19.7 โดยให้ความสำคัญกับตลาดข้อตกลงของอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดในส่วนของญี่ปุ่นได้มีส่วนสนับสนุนเพื่อยกระดับผ้าผืนของไทยให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ และญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าผืนเพื่อลดการนำเข้าจากจีน ส่วนอาเซียนไทยยังได้เปรียบเรื่องคุณภาพสินค้า ที่ได้รับความนิยมและแนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญรองจากจีน

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวไม่มากนักเนื่องจากทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม และผ้าผืนในประเทศได้รับผลกระทบมากจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดในขณะนี้ ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะชะลอการลงทุนในไทยและหันไปขยายฐานลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2553 คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยตลาดที่มีโอกาสขยายตัวมาก ได้แก่ อาเซียน และญี่ปุ่น ทั้งนี้สินค้าสิ่งทอที่จะส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และสอดรับกับทิศทางแฟชั่นในประเทศญี่ปุ่นด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ