สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:53 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.63 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 และร้อยละ 6.48 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้มีความต้องการไม้และเครื่องเรือน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 0.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.09 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.50 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจากภาวะศรษฐกิจภายในประเทศและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง และการที่ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโครงการที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนต่างๆ

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 617.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.87 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.61 มูลค่าการส่งออกที่ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ยังอยู่ในระยะฟื้นตัว

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 245.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 5.90 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.14 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และ รูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 60.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 8.51 และ 7.56 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 311.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 และ 89.64 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูปรองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีจำนวน 140.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.62 และ 14.64 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซีย และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเมียนมาร์

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเริ่มขยายตัว และทำให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นด้วย

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และการที่ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโครงการที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนต่างๆ

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และความไม่สงบของสถานการณ์ทางการเมือง

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ยังอยู่ในระยะฟื้นตัว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัว เนื่องจากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทยและของโลก ส่งผลต่อการเริ่มขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และความต้องการไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งการส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย ประเทศแถบเอเซียใต้ และตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดี แต่ปัจจัยลบได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท และของราคาน้ำมัน

ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศและของโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว การศึกษาและการวิเคราะห์การตลาดและแนวโน้มความต้องการของตลาด เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในเรื่องของการออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกระแสของการตื่นตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งยังรวมถึงการศึกษาเพื่อแสวงหาจุดแข็งของผู้ประกอบการเอง ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ต่ำสุดและสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้สูงสุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ