สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 15:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีปริมาณ 7,351 ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.2 และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยปริมาณการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 จึงยังมีความต้องการ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจมากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่ปริมาณการผลิตยังขยายตัวไม่มากนักเป็นผลจากผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว ส่งผลให้มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ จึงต้องการระบายสินค้าคงคลังออกไปก่อน การผลิตจึงขยายตัวเพียงเล็กน้อย

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีปริมาณ 7,087.3 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.6 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.3 สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี โดยจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ในร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการหาลูกค้าร้านขายยาใหม่ๆ

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีมูลค่า 9,061.1 ล้านบาทลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศ และควบคุมการเบิกจ่ายยามากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง และเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้ายามีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงด้วย นับแต่ภาวะเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวในปีก่อน เนื่องจากโรงพยาบาลและร้านขายยาได้ลดการสั่งซื้อยาราคาแพงลง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1 เป็นผลจากบริษัทยานำเข้าได้ทำการส่งเสริมกลยุทธ์การขายยารูปแบบต่างๆ ทั้งกลยุทธ์ขายยาให้ประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,947 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.6 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีมูลค่า 1,460.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยผู้ประกอบการไทยยังสามารถขยายตลาดไปยังคู่ค้าหลัก คือ อาเซียน อย่างต่อเนื่อง และสามารถขึ้นทะเบียนยาในประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 4.8 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV มีมูลค่าลดลงมาก (ยกเว้นกัมพูชา) เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดดังกล่าวกับประเทศคู่แข่งอื่นในอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมยาในเวียดนามได้พัฒนาความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากประเทศอื่นลง สำหรับตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 993.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 68 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

5. นโยบายภาครัฐ

5.1 การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง การกำ หนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 โดยกำหนดให้สินค้าจำนวน 38 รายการ และบริการ จำนวน 1 รายการ รวม 39 รายการ เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี 2553 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 ซึ่งยารักษาโรค เป็น 1 ในรายการสินค้าควบคุม ภายในหมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์

5.2 มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อลดการใช้ยาเกินความจำเป็น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1) อนุมัติในหลักการให้มีการตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่มหรือรายการเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนด โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาและดำเนินการเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และสอดคล้องกับฐานอำนาจตามกฎหมาย

2) มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบการออมเพื่อสุขภาพ (Medisave) สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่และแนวทางการอภิบาลระบบเพื่อปฏิรูปองค์กรบริหารจัดการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

3) มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาการกำหนดอัตราจ่ายล่วงหน้ารายกลุ่มโรคสำหรับการรักษาประเภทผู้ป่วยภายนอก โดยกรมบัญชีกลางตกลงราคาเหมาจ่ายรายโรคให้กับสถานพยาบาล

6. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าปริมาณมากในปีที่แล้ว ทำให้ยังมีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ผู้ผลิตจึงต้องการระบายสินค้าคงคลังก่อน ในส่วนการจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี สำหรับมูลค่าการนำเข้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการที่โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศ และควบคุมการเบิกจ่ายยามากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง และเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้ายามีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงด้วย นับแต่ภาวะเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวในปีก่อน เนื่องจากโรงพยาบาลและร้านขายยาต่างลดการสั่งซื้อยาราคาแพงลง ในส่วนของมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยยังคงทำการขยายตลาดไปยังคู่ค้าหลัก คือ อาเซียน อย่างต่อเนื่อง และสามารถขึ้นทะเบียนยาในประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 คาดว่า การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ตามวัฏจักรของธุรกิจที่จะขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ของปีประกอบกับยาเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงยังมีความต้องการ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้านมูลค่าการนำเข้าคาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากยาที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีสิทธิบัตร และใช้กับโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มควบคุมการเบิกจ่ายยามากขึ้นเพื่อลดการใช้ยาเกินความจำเป็นลง สำหรับมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศคู่ค้าได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ