สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 15:04 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.45 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในจีนและอินเดีย ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงปิดหน้ายางทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 แบ่งเป็นการผลิตยางนอกรถยนต์ 6.18 ล้านเส้น ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 10.78 ล้านเส้น และยางใน 17.88 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.86 21.36 และ 36.86ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.75

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.05 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในมีปริมาณการจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.35 30.01 และ 37.50 ตามลำดับ ในขณะที่ถุงมือยางมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.41

สำหรับการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ สำหรับในส่วนของถุงมือยางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2.การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จำนวน 1,926.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.77 สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยส่งออก ประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและสายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จำนวน 1,523.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.31 มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย

2.2 การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่า 384.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77.63 เนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

สำหรับประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในปี 2552 ทำให้อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง นอกจากนี้ ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ยังส่งผลให้ราคายางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปรวมทั้งจีนที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยางรถยนต์

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางยานพาหนะ ขยายตัวตามยอดการจำหน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยาง ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในด้านการผลิตที่สำคัญคือสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ซึ่งมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยาง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดโลกก็มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

สำหรับด้านราคายางในปี 2553 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้นตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และในช่วงต้นปีเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดโลกลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ