สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งการส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นการผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว อีกทั้งเกี่ยวเนื่องเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงความต้องการตามแนวโน้มการตลาด หรือตามกลุ่มนักออกแบบชั้นนำของโลก

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจำแนกได้ดังนี้

  • การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เทียบกับไตรมาสที่4 ของปี 2552 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.3 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.1 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
  • การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.1
  • การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 25.3 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 15.9 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 33.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.4

2. การตลาด

การส่งออก

  • รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 177.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 179.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.0 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ รองเท้ากีฬา และส่วนประกอบรองเท้า ลดลงร้อยละ 40.4 และ 13.3 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1, 23.4 และ18.9 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 205.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.8 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ และส่วนประกอบรองเท้า ลดลงร้อยละ 58.2, 16.4 และ 12.6 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นคือ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 และ 58.2 ตามลำดับตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 16.3, 14.8 และ 7.6ตามลำดับ

  • เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีมูลค่าส่งออก 45.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มูลค่าการส่งออก 47.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.7 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ ลดลงร้อยละ 3.2, 15.9 และ 3.9 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าถือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 43.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และ 3.1 และ 3.2 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ กระเป๋าถือ ลดลงร้อยละ 6.3 ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี มีสัดส่วนร้อยละ 19.6, 14.6 และ 8.9 ตามลำดับ

  • หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีมูลค่าส่งออก 127.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 124.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ ถุงมือหนัง หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 และ 5.5 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด ลดลงร้อยละ 3.9, 12.7 และ 3.5 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 103.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ หนังโคกระบือฟอก เครื่องแต่งกายและเข็มขัด หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1, 27.9 และ 37.1 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และถุงมือหนัง ลดลงร้อยละ 52.6 และ 2.5 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง จีน และเวียดนาม มีสัดส่วนร้อยละ 23.4, 14.5 และ 11.6 ตามลำดับ

การนำเข้า

  • หนังดิบและหนังฟอก ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 110.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้า 109.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการนำเข้า 83.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 12.1, 11.4 และ 8.6 ตามลำดับ
  • รองเท้า ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 54.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้า 51.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการนำเข้า 45.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม มีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 65.7, 8.7 และ 6.0 ตามลำดับ
  • กระเป๋า ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 36.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้า 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการนำเข้า 31.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อิตาลี และฝรั่งเศสโดยมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 47.6, 19.9 และ 19.9 ตามลำดับ

3. สรุปและแนวโน้ม

ดัชนีผลผลิต การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก และ การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 1 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ในปี 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เพื่อขายสินค้าในคลังสินค้าให้หมด ทำให้ช่วงกลางปีในคลังสินค้ามีปริมาณลดลง จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ในปลายปีถึงต้นปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่นำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า อีกทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้หนังฟอกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งการนำเข้าสินค้ารองเท้าและกระเป๋ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่สำหรับดัชนีผลผลิตการผลิตรองเท้ายังมีอัตราการเปลี่ยนแปลงในทิศทางลดลง ทำให้การส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนมีมูลค่าลดลง เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตรองเท้าจากประเทศไทยไปประเทศเวียดนาม แต่เริ่มมีคำสั่งซื้อรองเท้ากีฬาเข้ามาทดแทนจากประเทศญี่ปุ่นและจีนที่มีปัญหาเรื่องแรงงาน

คำสั่งซื้อในไตรมาส 2 มีแนวโน้มดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญแต่ปัญหาทางการเมืองอาจจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าในไตรมาส 3 เนื่องจากลูกค้ายกเลิกการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและมีความกังวลที่อาจจะส่งผลต่อการส่งมอบสินค้า แต่โดยรวมในปี 2553 ทั้งปีแนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และผู้ซื้อเริ่มสั่งสินค้าไปเติมสต๊อคที่ใกล้จะหมด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ