สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 15:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 7.0 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เนื่องจากปริมาณการผลิตในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ และน้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 14.9 4.0 3.2 และ 1.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)เป็นผลจากการปรับราคาสินค้าอาหารขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศปรับตัวลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่จากความกังวลในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินรอบใหม่ที่เกิดกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป กลับส่งผลให้มีการชะลอการสั่งสินค้า ประกอบกับเป็นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายปรับลดการผลิตลง แต่หากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 104.7 เป็นผลจากการเปิดฤดูหีบอ้อยประจำปี 2553 สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 7.3 จากการรีบตัดอ้อยอ่อนเนื่องจากชาวไร่อ้อยกลัวผลกระทบจากภัยแล้ง จึงทำให้ผลผลิตอ้อยมีคุณภาพความหวานลดลง และทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ลดลง

ในส่วนภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศ ผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอาหารที่อิงตลาดส่งออกส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ธัญพืชและแป้ง ผักผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9 29.9 11.0 และ 2.3 ตามลำดับ สำหรับสินค้าอาหารที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศหรือเป็นวัตถุดิบมีการผลิตลดลง เช่น น้ำตาลและน้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 7.3 และ 1.1 ตามลำดับ เป็นผลจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการตัดสินใจปรับลดการผลิตลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนของกลุ่มธัญพืชและแป้ง โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ยังเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการรับซื้อผลผลิตจากโครงการรับจำนำของภาครัฐ เป็นการประกันรายได้ของเกษตรกรแทน ซึ่งรัฐจะจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคาประกัน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้สามารถ จำหน่ายไปยังผู้ผลิตคล่องตัวขึ้นจากเดิมที่ต้องผ่านโครงการรับจำนำผลผลิตของรัฐเกือบทั้งหมด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 11.8 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) เป็นผลมาจากความวิตกกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจและความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง ประกอบกับมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในสินค้าหลายชนิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าในหลายกลุ่มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 24.3 น้ำมันพืช ร้อยละ 6.9 ปศุสัตว์ ร้อยละ 6.4 อาหารสัตว์ ร้อยละ 2.6 และประมง ร้อยละ 1.6 ขณะที่สินค้ากลุ่มน้ำตาลและผักผลไม้ มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนร้อยละ 101.6 และ 13.5 ตามลำดับ และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่วนใหญ่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยธัญพืชและแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 ผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 35.8 ผักผลไม้ ร้อยละ 26.1 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อยละ 12.0 และอาหารสัตว์ ร้อยละ 7.9

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,789.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 190,382.2 ล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 0.2 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 25.3 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์จะพบว่า ภาวะการส่งออกในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าน้ำตาล เป็นผลจากระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัญหาผลผลิตน้ำตาลของประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดียและออสเตรเลีย ลดลง ประกอบกับการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมาก ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มผักผลไม้ และอาหารอื่นๆ ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และเงินบาท เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะลูกค้าหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ยอดคำสั่งซื้อปรับตัวดีขึ้น สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,513.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 49,764.2 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.2 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และร้อยละ 15.0 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของทั้งกลุ่ม และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และร้อยละ 13.7 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และปลาทูน่ากระป๋อง พบว่า ส่งออกได้เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 561.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 18,458.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 5.3 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มมีการส่งออกเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 392.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 12,905.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.4 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าลดลงร้อยละ 3.4 ในรูปของเงินบาท แต่ปรับตัวดีขึ้นในรูปของเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 1.8 เนื่องจากเดิมประเทศคู่แข่ง คือ จีน ถูกระงับการนำเข้าจากหลายประเทศ ได้แก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด จึงทำให้สามารถกลับมาส่งออกสินค้าไก่ได้ และราคาโดยเปรียบเทียบที่ต่ำกว่าเป็นปัจจัยที่เข้ามาทดแทนสินค้าไก่จากไทยในหลายตลาด
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,171.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 71,409.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 0.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกลดลงของผลิตภัณฑ์จากข้าว ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ส่วนข้าวและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 29.5 ในรูปของเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 829.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27,253.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.6 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 72.7 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นของตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง จากการที่ประเทศอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกสำคัญประเทศหนึ่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 126.0 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 113.7 ในรูปของเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 322.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 10,590.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.7 และ 8.6 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 1.1 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และไอศกรีม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 1,750.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 58,232.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.8 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 2.6 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ลดลงร้อยละ 44.9 ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 45.3 ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จะพบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ในรูปของเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 18.0 ในรูปของเงินบาท จากการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม กากพืชน้ำมัน เมล็ดพืชน้ำมัน และปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของเหรียญสหรัฐฯ และเงินบาท เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและความต้องการเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามการผลิตและการใช้เพื่อผลิตจำหน่ายในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 93.3 ในรูปของเหรียญสหรัฐ และร้อยละ 83.4 ในรูปของเงินบาท

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และการกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 เห็นชอบในหลักการ แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553 - 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป และมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) โดยผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี พร้อมงบประมาณที่ใช้ และเป็นผู้ติดตามประเมินผล โดยให้สำนักงบประมาณใช้กรอบแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารของแต่ละกระทรวงต่อไป

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินมีจำนวนมาก จำเป็นต้องระบายขายในประเทศในราคาต่ำกว่าต้นทุน และได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการผลิต โดยกำหนดมาตรการลดกำ ลังการผลิตจากการขอความร่วมมือผู้ผลิตปลดไก่พันธุ์ และลดปริมาณการนำไก่เข้าเลี้ยง และด้านการตลาด โดยการรณรงค์เพิ่มการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการเร่งด่วน คือ สนับสนุนให้เด็กนักเรียนบริโภคไข่ไก่ และให้ส่วนราชการส่งเสริมการจำ หน่ายโดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย รับซื้อไข่จากผู้ผลิตโดยตรง และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประสานงาน

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 เห็นชอบ เรื่อง การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าว จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

3.4 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบ เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2551/2552 และการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2552/2553 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

4. สรุปและแนวโน้ม

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหาร ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจาก

4.1 การผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยระดับราคาสินค้าในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว สามารถกระตุ้นความต้องการในตลาดต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น

4.2 สินค้ากลุ่มธัญพืชและแป้ง ได้ผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้า เช่น จีน ส่งผลให้มีการเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น

4.3 สินค้าประมงที่สำคัญ คือ ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้มูลค่าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้ากุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ได้รับข่าวดีจากการประกาศยกเลิกการเรียกเก็บ AD จากสหรัฐอเมริกา และการเกิดโรคระบาดกุ้งในประเทศแถบอเมริกาใต้ ทำให้ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป หันมานำเข้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งจากไทยทดแทนเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดญี่ปุ่นที่เป็นตลาดอันดับ 2 ยังคงขยายตัวโดยเฉพาะสินค้าอาหารพร้อมปรุง จากการที่คนญี่ปุ่นหันมาทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น

สำหรับภาวะการจำหน่ายอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีการขยายตัวเล็กน้อย เป็นผลสืบเนื่องจากความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีข่าวความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย สำหรับสินค้าที่ยังมีการจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น คือ สินค้าไก่ เนื่องจากการเริ่มชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นที่หันไปนำเข้าไก่จากจีนที่สามารถแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาชิ้นส่วนไก่บางชนิดลดลง ผู้ผลิตภายในประเทศจึงหันมาทำตลาดในประเทศทดแทนเพิ่มขึ้น

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และจากไตรมาสก่อน แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง แต่จากการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลเสียต่อการส่งออกได้ ทั้งนี้เนื่องจากไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอาหารมีการผลิตและการส่งออกน้อยเป็นปกติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลักที่แม้ว่าจะฟื้นตัว แต่ยังมีความกังวลในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่เริ่มก่อตัวจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เช่น กรีซ และสเปน ที่เริ่มมีปัญหาด้านการขาดดุลงบประมาณและเงินบัญชีเดินสะพัด ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสหภาพยุโรป

สำหรับการจำหน่ายหรือการบริโภคในประเทศในไตรมาสที่ 2 คาดว่า จะปรับตัวลดลงเนื่องจากเกิดความไม่สงบทางการเมืองจนถึงขั้นจราจลในประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลง นอกจากนี้ความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ