ดัชนีอุตฯ ครึ่งปีแรกพุ่ง 24% กำลังการผลิตสุดคึก 62.9%

ข่าวทั่วไป Thursday August 5, 2010 14:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เผยครึ่งปีแรกภาคอุตฯ เดินเครื่องผลิตคึกคัก หนุนดัชนีอุตฯ พุ่งพรวด 24% กำลังการผลิต 62.9% ผู้ประกอบการหลายสาขาเล็งลง ทุนเพิ่ม รับทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ครึ่งปีแรกปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.1% เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ไตรมาตรที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัว 11.5% (MPI Q1/2553 ขยายตัว 31.0% Q2/2553 ขยายตัว 17.7%) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาพรวมเฉลี่ย 62.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยาย ตัวได้เป็นอย่างดี หลายสาขาอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับที่อาจจะต้องเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ มิฉะนั้น อุตสาหกรรมจะไม่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าจากการขยายตัวดังกล่าว สศอ.จึงได้มีการปรับประมาณการ การขยายตัวของ MPI ในปี 2553 อยู่ที่15-16% ซึ่วเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี

ขณะที่ MPI มิถุนายน 2553 ขยายตัว 14.34% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.6% ซึ่งเป็นไปตามทิศการขยายตัวของเศรษฐกิจ โลก และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อได้จากทั่วโลก สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันต่อเวลา จึงเป็นที่มั่นใจของประเทศคู่ค้า

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการ เมืองแต่ภาคอุตสาหกรรมไทยก็สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก็ขยายตัวอย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในครึ่งปีแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตรถยนต์ 769,082 คัน เพิ่มขึ้น 97.66% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท โดยจำหน่ายในประเทศ 356,692 คัน เพิ่มขึ้น 54.13% และการส่งออก 418,178 คัน เพิ่มขึ้น 78.11% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัว รถรุ่นใหม่ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานสำหรับตลาดส่งออกผู้ประกอบการมีการปรับแผนการ ผลิต เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 830,000 คัน เพิ่มขึ้น 36.00% จำหน่ายในประเทศประมาณ 343,000 คัน เพิ่มขึ้น 8.05% และส่งออกประมาณ 481,000 คัน เพิ่มขึ้น 59.92% โดยทั้งปีคาดว่าจะมีการผลิตรถ ยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 60.10% จำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน เพิ่มขึ้น 27.53% และส่งออกประมาณ 900,000 คัน เพิ่ม ขึ้น 68.05%

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น 36.55% โดยเพิ่มขึ้นทั้ง ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกของอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ HDD ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัว และตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สั่งนำเข้าสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการขยายตัวที่สูง ส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากฐานตัวเลขสถิติการส่งออกของปีก่อนค่อนข้างต่ำ

ส่วนแนวโน้มการผลิตในช่วงที่เหลือของปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.07% สินค้าที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD และ IC เนื่อง จากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ และตลาดในประเทศมีการขยายตัว โดยผู้ประกอบการพยายามที่จะเสนอสินค้าที่มีความทันสมัยให้ผู้ บริโภคได้เลือกซื้ออย่างหลากหลาย

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่อง นุ่งห่ม โดยเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 12.2% , 6.4% และ 6.4% ตามลำดับ เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับ แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยบวกเกิดมาจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ของอาเซียน เพื่อจะส่ง ต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไป ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนแนวโน้มของปี 2553 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3-7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและโรงงานรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแทบทุกโรงงาน สำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(อียู) เป็น ตลาดที่มียอดคำสั่งซื้อลดลง ขณะที่อาเซียนและจีน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนจะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในอนาคตโดยลดบทบาทลงจากคู่แข่งของ ไทยมาจำหน่ายสินค้าไทยในประเทศมากขึ้น เพราะมีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ส่วนอาเซียนเป็นตลาดที่ไทยควรจะนำสินค้าที่เน้นการออกแบบและเป็นแบรนด์ ของไทยไปจำหน่าย ส่วนตลาดญี่ปุ่นผู้ประกอบการต้องการสินค้านวัตกรรมและสินค้าคุณภาพดีแต่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าแฟชั่นจะเป็นตลาด ที่เป็นที่ต้องการมากกว่า

นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ยังได้สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้

ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 194.39 เพิ่มขึ้น 14.34% จากระดับ 170.01 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 200.74 เพิ่มขึ้น 21.34% จากระดับ 165.44 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 121.97 เพิ่มขึ้น 9.69% จากระดับ 111.20 ดัชนีผลิตภาพแรงงานใน ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 141.88 เพิ่มขึ้น 14.42% จากระดับ 124.00 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 182.52 เพิ่มขึ้น 3.28% จากระดับ 176.73 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.66%

          INDEX                                       อัตราการขยายตัว %
                              Q4/2552       Q1/2553       Q2/2553       ครึ่งปีแรก           ปี 2553f
 ดัชผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)          11.5          31.0          17.7          24.1         15.0-16.0
 อัตราการใช้กำลังการผลิต             61.1          62.9          62.7          62.9         63.0-64.0

                                        ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
  Index
                       ------------------------------ 2552 --------------------------------    ------------2553------------
                        มิ.ย.    ก.ค.   ส.ค.    ก.ย.    ต.ค.    พ.ย.    ธ.ค.    ม.ค.    ก.พ.    มี.ค.    เม.ย.   พ.ค.    มิ.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม     170.14  167.78  169.36  186.59  180.19  180.37  194.66  179.62  183.31  211.73  179.34  184.94  194.39
อัตราการเปลี่ยนแปลง(MOM)%   6.6   -1.3      0.8    10.1    -3.3    0.03     8.0    -7.9     2.0    15.6   -15.6     2.8    5.07
อัตราการเปลี่ยนแปลง(YOY)%  -6.8   -9.0     -8.6     1.0    -0.5     7.5    30.7    29.1    31.1    32.6    23.0    15.9   14.34
อัตราการใช้กำลังการผลิต%    55.7   57.0     57.2    60.1    61.0    60.3    61.8    60.4    60.6    67.9    57.9    64.0   65.66

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ