รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฏาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 14:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมิถุนายน 2553
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 5.1 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.3 ในเดือนพฤษภาคม 2553
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมอาหาร

  • การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า อาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังการคลี่คลายของปัญหาการชุมนุมทางการเมือง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนสิงหาคม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า ประกอบกับค่าจ้างแรงงานของจีนได้ปรับสูงขึ้นและการแข็งค่าของเงินหยวนจะทำให้ราคาสินค้าจีนแพงขึ้นในสายตาของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยรุกตลาดจีนและตลาดอื่นๆได้มากขึ้น เนื่องจากศักยภาพการแข่งขันด้านราคาเพื่อส่งออกมีมากขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

  • ภาพรวมสถานการณ์การผลิตเหล็ก คาดว่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่ทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่
  • สำหรับเหล็กทรงแบนมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับความต้องการใช้เหล็กในประเทศคาดว่าจะขยายตัวขึ้นโดยมาจากการนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงเพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าคอมเพรสเซอร์
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

พ.ค. 53 = 185.0

มิ.ย. 53 = 194.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เครื่องแต่งกาย
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

พ.ค. 53 = 64.3

มิ.ย. 53 = 65.7

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับเทียม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2553 มีค่า 194.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 (185.0) ร้อยละ 5.1 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมิถุนายน 2552 (170.0) ร้อยละ 14.3

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ผ้าถักเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เบียร์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 (ร้อยละ 64.3) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมิถุนายน 2552 (ร้อยละ 55.6)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับเทียม เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 325 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 270 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 20.37 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 12,444.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 6,668.88 ล้านบาท ร้อยละ 86.61 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 7,278 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,135 คน ร้อยละ 18.63

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 359 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 9.47 และการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนมิถุนายน 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 11,675 คน ร้อยละ 37.66 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการลงทุน 10,838.55 ล้านบาท ร้อยละ 14.82

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ

อุตสาหกรรมขุด ตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 24 โรงงาน รองลงมาคือ

อุตสาหกรรม ซ่อมและพ่นสีรถยนต์ จำนวน 18 โรงงาน

  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ

อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 2,745.55 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ เงินลงทุนจำนวน 2,467.40 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ

อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ จำนวนคนงาน 1,113 คน รองลงมาคือ

อุตสาหกรรมผลิตอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด และผลิตน๊อตสกรู จำนวนคนงาน 381 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 152 ราย น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 299 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.16 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 883.17 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,360.15 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,478 คน น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 5,924 คนภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 122 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 24.59 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,541.81 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,251 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 26 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 17 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ เงินทุน 133.04 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมหมัก คาร์บอไนซ์ สาง หวี รีด ปั่น อบ ควบ บิด เกลียว กรอ ฟอก ย้อมสีเส้นใย เงินทุน 99.0 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2553 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 917 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป คนงาน 239 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — มิถุนายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 700 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 423 โครงการร้อยละ 65.48 และมีเงินลงทุน 227,600 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 96,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 136.1

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — มิถุนายน 2553
            การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 293                     66,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%                238                     63,000
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          169                     98,500
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — มิถุนายน2553 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 108,800 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 45,900 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ในส่วนการจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้นภายหลังการคลี่คลายปัญหาชุมนุมทางการเมือง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 9.8 และ 5.4 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลังสับปะรดกระป๋อง และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 65.2 50.6 และ 5.4 จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 และ 34.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาหารไก่ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมิถุนายน 2553 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 7.3 และ 8.9จากการลดลงของการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนใหม่ ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้าอาหารปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักสด ไข่ และเนื้อสัตว์ต่างๆ

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 38.5 และ 17.7 จากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูปและผลิตภัณฑ์ข้าว และปลาทูน่ากระป๋องร้อยละ 32.0 31.2 31.3 และ 16.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า อาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล ประกอบกับวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังการคลี่คลายของปัญหาการชุมนุมทางการเมือง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การแข็งค่าของเงินหยวนเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะรุกตลาดจีนมากขึ้น...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนมิถุนายน 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2, 4.5, 47.7 และ 9.4 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3, 1.7, 23.6 และ7.7 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วประกอบกับแนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ ต้นน้ำและกลางน้ำที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญรองจากจีน

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศเดือนมิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4, 15.4, 10.3, 10.5, และ 13.8 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5, 36.1, 37.5, 28.7 และ45.3 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกขยายตัวในตลาดหลักทุกตลาดเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปร้อยละ 16.3, 22.7, 27.0 และ 29.0 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกขยายตัวในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 49.9 , 29.4, 31.1 และ 15.2 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนสิงหาคม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าประกอบกับค่าจ้างแรงงานของจีนได้ปรับสูงขึ้นและการแข็งค่าของเงินหยวนจะทำให้ราคาสินค้าจีนแพงขึ้นในสายตาของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยรุกตลาดจีนและตลาดอื่นๆได้มากขึ้นเนื่องจากศักยภาพการแข่งขันด้านราคาเพื่อส่งออกมีมากขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association)รายงานว่า ปริมาณการผลิตเหล็กดิบของโลกในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 199 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ส่งผลให้การผลิตเหล็กดิบในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เป็น 706 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 18.17 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 124.32 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กแผ่นพบว่า ลดลง ร้อยละ 20.45 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ30.39 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งได้ปิดเตา 1 เตาเป็นการชั่วคราวประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลง ส่งผลให้การผลิตเหล็กประเภทนี้ลดลง สำหรับเหล็กทรงยาวการผลิตลดลง ร้อยละ 13.69 โดยเหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 68.42 และเหล็กข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ19.08 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในช่วงนี้ยังไม่ดีขึ้น นอกจากนี้จากการที่เมื่อเดือนที่แล้ว (เดือนพฤษภาคม)ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะดีขึ้น แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นจึงทำให้ผู้ผลิตยังคงมีสต๊อกอยู่ ส่งผลให้เดือนนี้ผู้ผลิตจึงลดการผลิตลง

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 7.85 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.72 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.91 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.50 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.78 โดย เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.14 รองลงมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.56

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญทุกตัวมีการปรับตัวที่ลดลง ดังนี้ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 569 เป็น 507 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 10.95 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 619 เป็น 564 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 8.89 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 760 เป็น 704 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลง ร้อยละ 7.37 เหล็กเส้น ลดลงจาก 535 เป็น 505 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลง ร้อยละ 5.61 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ลดลงจาก 480 เป็น 460 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 4.17 ซึ่งสาเหตุที่ราคาเหล็กในช่วงนี้ลดลงเนื่องจากราคาเศษเหล็กในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลกระทบจากขณะนื้เป็นฤดูฝนส่งผลให้การก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียต้องชะลอตัวลง จึงมีผลทำให้ราคาเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตลดลง อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคาเหล็กอาจจะไม่ลดลงไปกว่านี้แล้วเนื่องจากราคาสินแร่เหล็กมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่ทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความต้องการใช้เหล็กในประเทศคาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้นโดยมาจากการนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงเพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 148,878 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการผลิต 74,717 คัน ร้อยละ 99.26 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 12.65
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 70,557 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 43,402 คัน ร้อยละ 62.57 จากความต้องการรถยนต์ทุกประเภท โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กและมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม2553 ร้อยละ 13.43
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 69,279 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการส่งออก 35,403 คัน ร้อยละ 95.69 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลางแอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 7.72
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 42 และส่งออกร้อยละ 58

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีขึ้น อีกทั้งราคาสินค้าทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 201,117 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการผลิต 126,553 คัน ร้อยละ 58.92 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรถจักรยานยนต์ทุกประเภท (แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต) และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 30.35
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 182,607 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 151,473 คัน ร้อยละ 20.55 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 22.00
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 12,165 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการส่งออก 6,702 คันร้อยละ 81.51 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 3.56
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 92และส่งออกร้อยละ 8
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกมีการชะลอตัวแต่ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมิถุนายน 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 5.25 และ4.54 ตามลำดับ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้างทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.97 และ 12.11 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้นการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 30.19 และ 17.57 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมา คือ เมียนมาร์บังคลาเทศและเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือนกรกฏาคมและสิงหาคม คาดว่าจะยังทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างสำหรับการส่งออก เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศตลาดส่งออกหลักเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

-ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกรกฎาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

-ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2553 ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 35.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มี

มูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มิ.ย. 2553

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์           มูลค่า             %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                1,657.97           13.62           25.25
          IC                              847.27           17.26           42.85
          เครื่องปรับอากาศ                   276.15            0.58           41.43
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                  181.44           13.94           52.36
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   4,963.08           14.12           36.59

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมิถุนายน2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.21 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.52 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.56 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องทำความเย็นเป็นหลัก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวจากการผลิตเพื่อการส่งออกได้แก่ ตลาดอียูและอาเซียน นอกจากนี้ตลาดในประเทศยังได้รับอานิสงค์จากราคาที่ปรับลดลงของภาษีสรรพสามิตประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นกว่าปีก่อนๆค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณการผลิตเพื่อการจำหน่ายมากตามความต้องการไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.94 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.87 โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 524.03 การผลิตที่ขยายตัวไม่มากในหมวดอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้แนวโน้มการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีตามคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับสูง

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 14.12 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.59 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,963.08 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 9.65 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.08 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้าฯ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจากการเร่งตัวขึ้นของสินค้าเกือบทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูงที่สุดได้แก่อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกรกฎาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและเครื่องคอมเพรสเซอร์

ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 35.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Semiconductor devices Transistors /IC เป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ