รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 23, 2010 13:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม 2553
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ร้อยละ 2.8 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงหลายอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้การที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบวิกฤตการเมืองและจำนวนวันหยุดที่มาก ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับการผลิตที่เริ่มกลับมาขยายตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากฐานที่เริ่มสูงขึ้นดังกล่าว
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.3 ในเดือนเมษายน 2553

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า
  • สำหรับการจำหน่ายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศบางส่วนชะลอการลงทุนและหันไปขยายฐานลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และลาว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำ ภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำ โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์
  • ประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก Hard Disk Drive และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นหลัก

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

เม.ย. 53 = 180.0

พ.ค. 53 = 184.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

เม.ย. 53 = 58.3

พ.ค. 53 = 64.0

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • อิเล็กทรอนิกส์
  • เส้นใยสิ่งทอ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีค่า 184.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 (180.0) ร้อยละ 2.8 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2552 (159.6) ร้อยละ 15.9

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน2553 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เครื่องปรับอากาศเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ64.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 (ร้อยละ 58.3) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2552 (ร้อยละ 55.0)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 270 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 273 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1.1 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,668.88 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการลงทุน 8,035.34 ล้านบาท ร้อยละ 17.01 แต่การจ้างงานรวมมีจำนวน 6,135 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,029 คน ร้อยละ 22.0

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 296 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.78 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน 9,488.34 ล้านบาท ร้อยละ 29.71 และการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,440 คน ร้อยละ 27.31

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมขุด ตักดิน สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 22 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป จำนวน 17 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำหรับใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน จำนวน 740.37 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์พลาสติก เงินลงทุนจำนวน 506.54 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำหรับใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 1,258 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวนคนงาน 325 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 299 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 203 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.29 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม1,360.15 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนเมษายน 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,267.24 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 5,394 คน น้อยกว่าเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 5,924 คนภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 187.5 และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,844 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 6,343.66 ล้านบาท

  • อุตสาหกรรมที่มีจำ นวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คืออุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 78 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 37 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป เงินทุน 171.4 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำสีสำหรับใช้ทา พ่น เคลือบ เงินทุน 155.0 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2553 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 1,333 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใย คนงาน 890 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 566 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 337 โครงการร้อยละ 68.0 และมีเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 73,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 174.0

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2553
          การร่วมทุน                      จำนวน(โครงการ)         มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 240                     58,500
          2.โครงการต่างชาติ 100%                193                     56,700
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          133                     84,800
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2553 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 104,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 42,100 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ในส่วนการจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้นภายหลังการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุด

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2553 ลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 16.3 และ 1.2 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น สับปะรดกระป๋องแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 40.6 และ 63.2 จากปริมาณวัตถุดิบลดลง

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.9 และ 21.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณน้อยและมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้อาหารไก่ มีปริมาณการผลิตลดลงเช่นกันร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2553 สินค้าอาหารและเกษตรมีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 1.9 และ 12.5 จากการลดลงของการจับจ่ายใช้สอยจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ราคาสินค้าอาหารปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักสด ไข่และเนื้อสัตว์ต่างๆ

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนพฤษภาคม 2553 มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 23.4 และ 0.7 จากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในสินค้าไก่แปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ข้าว ร้อยละ 31.3 28.9 และ 25.6 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นหลังปัญหาวิกฤตการเงินของสหภาพยุโรปที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุด

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8, 6.2, และ 7.2 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1, 4.0 และ 9.4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวอีกครั้งหลังจากชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญรองจากจีน

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2553 ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ(เส้นใยสิ่งทอฯ) มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 7.1 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่การจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 2.5 และ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในกรุงเทพฯ ในช่วงดังกล่าว สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9เมื่อเทียบกับเดือนก่อนได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1, 18.3, 28.3, 12.6, 40.7 และ 23.4 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้ายด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6, 21.3, 20.3, 30.5, 21.7 และ 58.7 ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกเติบโตใน ตลาดอาเซียน (+28.8) ญี่ปุ่น (+ 4.3) สหรัฐอเมริกา (+14.9) และสหภาพยุโรป (+1.6) โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนได้รับอานิสงส์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน

3. แนวโน้ม

การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งเหตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา จะไม่กระทบต่อการผลิตมากนัก สำหรับการจำหน่ายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศบางส่วนชะลอการลงทุนและหันไปขยายฐานลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และลาว

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • บ.Canadoil Plate Ltd (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่แคนาดาแต่เจ้าของสัญชาติอิตาเลียน) วางแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นหนา (Plate) ชนิดความกว้าง 5 เมตรในจังหวัดระยอง โดยในเฟสแรกโรงงานผลิตเหล็กแผ่นหนาแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1.2 ล้านตันต่อปี และจะสร้างเสร็จและเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2012 ซึ่งเหล็กแผ่นหนาที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานท่อเหล็กในเครือซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.50 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 151.06 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.28 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.63 เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.38 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งในกลุ่มเหล็กทรงยาวได้ผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเมื่อเดือนก่อนผู้ผลิตรายนี้ได้ปิดเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนนี้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญยังคงชะลอตัวอยู่

สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.93 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.99 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.14 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 42.06 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.16 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.20 รองลงมาคือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.14 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 50.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 155.78 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.81

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญทุกตัวมีการปรับตัวที่ลดลง ดังนี้ เหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงจาก 715 เป็น 619 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 13.46 เหล็กแท่งแบนลดลงจาก 639 เป็น 569 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 10.96 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ลดลงจาก 535 เป็น 480 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 10.28 เหล็กเส้น ลดลงจาก 590 เป็น 535 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 9.32 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 818 เป็น 760 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 7.03 เนื่องจากราคาเศษเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลกระทบจากขณะนี้ที่เป็นฤดูฝนส่งผลให้การก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียต้องชะลอตัวลง จึงมีผลทำให้ราคาเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตลดลง อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาเหล็กในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องแล้วทำให้มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาเหล็กน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินแร่เหล็กมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการใช้ของประเทศจีน อินเดียที่เริ่มสูงขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนมิถุนายน 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่ทรงตัว เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่ สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะขยายตัวขึ้นโดยมาจากการนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงเพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

ในเดือนมิถุนายน 2553 มีข่าวการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ประกาศลงทุนมูลค่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (15,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในจังหวัดระยอง โดยมีกำลังการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 150,000 คันต่อปี โรงงานแห่งใหม่นี้จะเริ่มผลิตรถฟอร์ด โฟกัส โมเดลใหม่ ในปี พ.ศ.2555 เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้- การผลิตรถยนต์ จำนวน 132,165 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 61,752 คัน ร้อยละ 114.03 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ร้อยละ 25.74

  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 62,205 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 40,539 คัน ร้อยละ 53.44และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน2553 ร้อยละ 8.89
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 75,075 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 31,913 คัน ร้อยละ 135.25 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลางแอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ร้อยละ 31.39
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 44 และส่งออกร้อยละ 56

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 154,290 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 121,704 คัน ร้อยละ 26.77 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553ร้อยละ 10.30
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 149,677 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 135,369 คัน ร้อยละ 10.57 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ร้อยละ 11.27
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 12,614 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 9,083 คันร้อยละ 38.87 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ร้อยละ 43.18
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2553ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 94และส่งออกร้อยละ 6
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.11 และ 16.37 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.23 และ 20.64 ตามลำดับ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุน

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 66.72 และ 28.30 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมา คือ บังคลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนมิถุนายน และ เดือนกรกฎาคม 2553 คาดว่าจะยังทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

สำหรับการส่งออก เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศตลาดส่งออกหลักเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนมิถุนายน 2553 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์
  • ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก HDD/IC เป็นหลัก

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.98 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.20 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงเนื่องจากอุตสาหกรรม HDD เริ่มมีการปรับระดับการใช้สินค้าคงคลังให้เหมาะสมกับปริมาณคำสั่งซื้อทำให้การผลิตในเดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การผลิตเครื่องปรับอากาศยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนและฐานตัวเลขที่ต่ำในปีก่อน

โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.90 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.95 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องทำ ความเย็นเป็นหลัก เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวจากการผลิตเพื่อการส่งออกได้แก่ ตลาดอียูและอาเซียน สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.65 และปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.64

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 27.79 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.76 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,349.16 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 24.98 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.77 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1699.48 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.66 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คือ 2,649.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของสินค้าเกือบทุกชนิด

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนมิถุนายน 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก HDD/IC เป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ