ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว แต่เศรษฐกิจบางประเทศยังคงมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยุโรป ในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2553 อยู่ที่ 78.24 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 อยู่ที่ 58.09 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 1.3 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 80.70 USD/Barrel เป็นผลมาจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และอุปสงค์พลังงานที่ลดลงเนื่องจากตัวเลขการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงในหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบที่มีปริมาณลดลง
สำหรับเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 12.0 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ7.1 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คือ การขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและรายจ่ายในการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลง ประกอบกับการลงทุนขยายตัวสูงจากการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสแรกของปี ซึ่งมาจากฐานในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ที่เริ่มปรับเข้าสู่ในระดับปกติในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing ProductionIndex : MPI) ดัชนีการส่งสินค้า เป็นต้น
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 93,104.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 48,685.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 44,418.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.70 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 4,267.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.51 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.01 ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน 2553 การส่งออกมีมูลค่า 18,038.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย
ในส่วนของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำ มีการขยายตัวร้อยละ 35.0 ขยายตัวต่อเนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรก ปี2553 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำขยายตัวถึงร้อยละ 38.7 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญทำให้การส่งออกขยายตัว เป็นสินค้าในหมวดยานยนต์ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาพรวม 6 เดือนแรกอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 74.8 ในแง่มูลค่าเหรียญสหรัฐ และเมื่อคิดในรูปจำนวนคันขยายตัวร้อยละ 78.1 หรือ 418,178 คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เครื่องอิเลคทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 37.2 และ 40.5 ตามลำดับ ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวข้างต้นกระจายไปในทุกกลุ่มสินค้าตลอดจนทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีขยายตัวสูงถึง 48.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากข้อตกลงเอฟทีเอ และเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่ง
ทางด้านมูลค่าการนำ เข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ยังมีอัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการลงทุนและการผลิตจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามมา โดยในไตรมาสที่ 2/2553 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 43.19 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1/53 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 95.5 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาช่วงครึ่งปีแรก ปี 2553 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัวร้อยละ 66.35 ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนไตรมาสที่ 2/2553 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 45.28 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 1/53 ที่ขยายตัวร้อยละ 27.87 และครึ่งปีแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 36.42 ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในหมวดเครื่องมือ เครื่องจักร ที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้ากลุ่มสำคัญของการนำเข้าสินค้าทุน ก็คือ เครื่องมือ เครื่องจักร ต่างๆ เพื่อขยายการลงทุน หลังจากการลงทุนหดตัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาและเพื่อขยายการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญที่การใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูง เช่นอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเลียม
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 18,568.68 ล้านบาทเมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,985.15 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 1,583.55 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมูลค่าการลงทุนขยายตัวร้อยละ 51.78 สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 346 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 210 โครงการร้อยละ 64.476 โดยมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 139,400 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 117.81
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 122 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 40,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 86 โครงการ เป็นเงินลงทุน 67,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 67,300 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 29,000 ล้านบาท และเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 12,900 ล้านบาท สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 7 โครงการคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 19,570 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวน 73 โครงการ มีเงินลงทุน 15,907 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์จำนวน 20 โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,437 ล้านบาท และประเทศจีน 8 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 8,040 ล้านบาท
กล่าวโดยสรุป เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆในไตรมาสที่ 2/2553 และในครึ่งปีแรกของปี 2553 ข้างต้นซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวอย่างค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 นี้ ภาวะอุตสาหกรรมในภาพรวมของไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวในไตรมาสแรกที่สูงกว่าการคาดการณ์ในระดับที่ค่อนข้างมาก ซึ่งการฟื้นตัวที่รวดเร็วและต่อเนื่องนี้ทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติในปี 2551 หรือสูงกว่า ทำให้มีแรงส่งต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังรวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2ของปี 2553 น่าจะสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ประกอบกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเชียในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2553 ที่มีการขยายตัวในระดับที่สูง
จากปัจจัยต่างๆดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ.จึงได้มีการปรับประมาณการ การขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้นจากที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปีโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2553 ขยายตัวเป็นบวกในช่วงร้อยละ 15.0 — 16.0 และ GDPภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 12.0 — 13.0 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 63.0 — 64.0 จากปี 2552 ที่อยู่ที่ร้อยละ 56.2
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการณ์ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 125.57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.91 หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 20.94 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นสายไฟฟ้า โทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) และโทรทัศน์สี (ขนาดจอ 21 นิ้ว หรือมากกว่า) ที่ยังปรับตัวลดลง สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.30 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.17 รองลงมาคือ Other IC ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.54
แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2553 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.68 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.34 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมตู้เย็น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.53จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตัวแปรดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 ซึ่งตัวแปรดังกล่าวนำมาพิจารณาในการประมาณการไตรมาสที่ 3 ปี 2553หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.12 และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.07 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก
เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 2 ปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วแต่ลดลงร้อยละ 7.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการส่งออกที่ดีขึ้น รวมทั้ง การเบิกจ่ายงบโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาทที่มีเป้าหมายอยู่ 85 % ซึ่งเท่ากับ 278,000 ล้านบาทในปี 2553 น่าจะเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2553
ปิโตรเคมี ไตรมาส 2 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 1.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ32.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆในตะวันออกกลาง และจีน ได้ทยอยเปิดดำเนินการจำนวนมาก ทำให้มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากออกสู่ตลาด ส่วนหนึ่งได้ทะลักเข้าสู่ตลาดเอเซีย ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศจึงควรวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด รวมถึงการสร้างตลาดในประเทศยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อรองรับผลผลิตส่วนเกินที่อาจเกิดขึ้น
เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.63 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.85สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.18 และ 36.42 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 412.24เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 275.03 และเหล็กแผ่นเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 184.28 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.13 และ 21.74 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 316.02 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 303.41 ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากการฟื้นตัวของประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย
แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว ทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกที่มีอยู่เริ่มลดลง ผู้ผลิตจึงต้องผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 769,082 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.66 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.00, 97.81 และ 65.93 ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 424,820 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.24 อย่างไรก็ดีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานที่ค่อนข้างต่ำในครึ่งปีแรก 2552
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสสามปี 2553 คาดว่าขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลก สำหรับตลาดในประเทศ ได้รับผลดีจากการแนะนำรถยนต์เข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปี 2553 ในขณะที่ตลาดส่งออกคาดว่าจะได้รับผลดีจากการยกเว้นอากร หรือปรับลดอากรเหลือกร้อยละ 0 ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ใน ไตรมาสที่สาม ปี 2553 ประมาณ 414,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณ ร้อยละ 42 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 58
พลาสติก ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าส่งออกเท่ากับ 22,804 ล้านบาท จากเดิม 21,430 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2552 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงสัญญาณในตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตราการทางด้านการเงินปริมาณการส่งออก ส่งผลให้การผลิตภัณฑ์พลาสติกดีตามไปด้วย ทั้งนี้ยังมีสัญญาณที่ดีจากอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มดีอย่าง
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก และ การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 2 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ในปีเดียวกัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงชะลอลงบ้าง แต่สำหรับดัชนีผลผลิตการผลิตรองเท้า ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง มีอัตราการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส ที่ 2ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อีกทั้งมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อรองเท้าเข้ามามากขึ้น
แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และผู้ซื้อเริ่มสั่งสินค้าไปเติมสต๊อคที่ใกล้จะหมด แต่แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของ EU ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยโดยเฉพาะปัญหาของประเทศกรีซ หากขยายวงกว้าง อาจส่งผลต่อการส่งออกพราะผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยสินค้า
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง และผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 52.7 และ 11.1 เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบได้รับความเสียหาย ประกอบกับเกิดการระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยแป้งที่เป็นศัตรูพืชของมันสำปะหลังส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง แต่หากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 53.3 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าจะยังคงมีทิศทางการผลิต และการส่งออกที่ชะลอตัว ตามฤดูกาลของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภาวะวิกฤตการณ์การเงินในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่แม้จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น และภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวชี้นำราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการใช้นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าโดยการกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ นอกจากนี้สินค้าอาหารจะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงได้
ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.56 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.66และ 13.51 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากผลกระทบของความไม่ สงบทางการเมืองในช่วงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัว เพื่อรองรับการส่งออกที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัว และเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก การปรับตัวของดอกเบี้ยเงินกู้ และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง เป็นต้น
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเริ่มขยายตัว ตั้งแต่ต้นปี 2553 แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง รวมทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการลงทุนและการบริโภคออกไปอย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้ว อุตสาหกรรมยางแลผลิตภัณฑ์ยางยังมีการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว
แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะยังขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการส่งออกไปยังประเทศจีนจะเริ่มชะลอตัว แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วยสำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต 104.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 8.3 ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษโดยเฉพาะกระดาษที่ใช้สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูกเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเช่นเดียวกันกับค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมที่ลดลง เนื่องจากยังคงมีสินค้าคงเหลือจากการผลิตในไตรมาสก่อน ประกอบกับในไตรมาสนี้เป็นช่วงที่การผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในที่ส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่าทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนามและเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดภายใน และการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ น่าจะมีทิศทางเป็นบวกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย คาดว่า จะเริ่มมีการทยอยผลิตสินค้าเพื่อเตรียมรองรับเทศกาลต่าง ๆ อาทิ คริสต์มาส และปีใหม่
ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีปริมาณ 7,761.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 22.7 และ 4.1 ตามลำดับ สำหรับในครึ่งปีแรกของปี2553 มีปริมาณการผลิต 15,218 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12 ปริมาณการผลิตยาในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 จึงยังมีความต้องการ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและเหตุการณ์ทางการเมืองมากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาทั้งในประเทศและส่งออก จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตยาในประเทศกลุ่มผลิตยาสามัญ ซึ่งเป็นประเภทของยาที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น จากการที่มีราคาถูก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลง โดยหันมาใช้ยาสามัญมากขึ้น อาจส่งผลต่อการขยายตัวของปริมาณการผลิตและการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 0.2 ,13.2 และ 3.1 ตามลำดับ เป็นผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองในช่วงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และ 1.3 ตามลำดับ ยกเว้นการผลิตผ้าฯ ที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง แต่อย่างไรก็ตามการลดลงของการผลิตเป็นเพียงผลกระทบในช่วงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ
กลุ่มสิ่งทอที่จะส่ง เข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก และแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะโดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น
แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน และเส้นใยฯ เนื่องจากช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและโรงงานรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแทบทุกโรงงาน สำหรับตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(อียู) คาดว่ามียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังจากชะลอในไตรมาสที่ 1 ขณะที่จีนและอาเซียนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.18 ล้านตันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.11 และ 7.05 ตามลำดับส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 9.17 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.98แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.63 โดยจะเห็นว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ มีความล่าช้าออกไปอีก ประกอบกับในไตรมาสที่ 2 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ซึ่งในไตรมาส 3 นั้น ถือเป็นช่วงที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ต่ำสุดของปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อาจทำให้การก่อสร้างชะลอตัว และจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4
เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณผลิต 41.84 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.16 และ 11.03 ตามลำดับสำหรับเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณผลิต 1.67 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 3.51 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.46 ซึ่งการผลิตเซรามิกที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
สำหรับแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส ที่ 3 ปี 2553 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตของชำร่วยเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น จำเป็นต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งขยายตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่ลดลงด้วย
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 9.38 และการจำหน่ายลดลงร้อยละ 12.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกภาพรวมมีการหดตัวลง คือ ลดลงร้อยละ 67.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณีเครื่องประดับแท้ และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.89 16.81 และ 84.81 ตามลำดับสำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีการลดลงอย่างมาก เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้ามากกว่าการส่งออก ทั้งนี้เครื่องประดับแท้ยังคงสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 38.81 ส่วนการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.09เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 21.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ปัจจัยด้านบวก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 950 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านลบ แนวโน้มการแข็งค่าเล็กน้อยของค่าเงินบาท และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ชะลอการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆ จะทำให้การใช้จ่ายในด้านสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงบ้าง ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3ปี 2552 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--