สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 26, 2010 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 12.0 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -7.1 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คือ การขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและรายจ่ายในการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลง ประกอบกับการลงทุนขยายตัวสูงจากการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2)

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 22.8 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -14.4 โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยีที่พึ่งพาการส่งออก ขยายตัวสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมเบาหดตัวลง (อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย) ส่วนอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวชะลอลง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 จากปี 2552 หดตัวร้อยละ -2.2 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี เช่น วิกฤติทางการคลังในยุโรปสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริโภคและการลงทุน ปัจจัยทางด้านภัยแล้ง เป็นต้น

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่น Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 (ม.ค.-มิ.ย. 53) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับเป็นต้น

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 อย่างไรก็ตามในส่วนของการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2552

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 186.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (191.8) ร้อยละ 2.8 แต่เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (158.5) ร้อยละ 17.7

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive น้ำตาลเครื่องประดับเพชรพลอย เบียร์ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 24.1 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 188.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (191.0) ร้อยละ 1.5 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (154.0) ร้อยละ 22.2

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ผลิตภัณฑ์ยาง เบียร์ เยื่อกระดาษและกระดาษ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีการส่งสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 27.7 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เหล็ก เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 183.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (182.0) ร้อยละ 0.9 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (187.2) ร้อยละ 1.8

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์เหล็ก เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เม็ดพลาสติก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ เบียร์เส้นใยสิ่งทอ น้ำตาล กระดาษลูกฟูก เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552ร้อยละ 5.1 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ เบียร์ เส้นใยสิ่งทอ กระดาษลูกฟูก น้ำตาลผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1)ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.7 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 63.1) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552(ร้อยละ 53.9)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำตาลผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เหล็ก เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เหล็กเส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 75.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (78.4) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (72.0) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำและดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ความวุ่นวายทางการเมืองจนเกิดการจลาจลและเผาสถานที่ต่าง ๆ ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อผู้บริโภค สถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูงของประเทศในยุโรป ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอโครงการลงทุนที่มาบตาพุด อย่างไรก็ตามหากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองคลี่คลายลง นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงมีโอกาสปรับลดลงได้หากสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งปัจจัยลบต่าง ๆ ไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันสั้นตามความคาดหวังของผู้บริโภค

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่า 68.0 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (70.9) และยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่า 67.2 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (69.5) และยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่า 92.4ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (94.7) และยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต แต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 49.3 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (52.5) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (43.6) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้นสำหรับดัชนีที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัทคำสั่งซื้อทั้งหมด การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2553

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ดัชนีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : ITSI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 99.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (110.5) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552(79.4) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน 2553 ดัชนีมีค่า 103.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 (94.7) โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้คลี่คลายลง ประกอบกับความพยายามของรัฐบาลที่เดินหน้าตามแผนปรองดองแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ขับเคลื่อนแผนปรองดองให้เกิดผลสำเร็จ เร่งดำเนินการชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมและมีเสถียรภาพ สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุด การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและปรับลดภาษีเงินได้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ระดับ 124.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 121.1โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดัชนีส่วนกลับ ราคาน้ำมันดิบ และมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่าเฉลี่ย 121.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 120.7

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ระดับ 120.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.5 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์รวม (รถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์)

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่า 135.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (133.6)และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (125.5) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 182.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (178.6) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (150.6)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

(สำหรับข้อมูลปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้ ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนพฤษภาคม 2553 เท่านั้น)

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 107.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.8) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (104.5)การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ผักและผลไม้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคากลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 165.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (161.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (151.6) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 สำหรับราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2553 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม)โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.055 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.026 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 97.30 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.585 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ1.54)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2553 มีจำนวน 5.719 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.45 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 93,104.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 48,685.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 44,418.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.70 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 4,267.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.51 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ46.01

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน(เมษายน-มิถุนายน) มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมูลค่าการส่งออกขยายตัวทั้ง 3 เดือน โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนที่มีมูลค่าการส่งออก 18,038.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สำหรับเดือนเมษายนมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 และเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 14,091.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 16,556.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 37,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.29) สินค้าเกษตรกรรม 4,832.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.93) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,564.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.32) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 2,659.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.46)

เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของในทุกหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.40 สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.23 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.14 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.49

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักใน 6 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 9,304.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.00)รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 8,538.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.17) อัญมณีและเครื่องประดับ 5,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.40) แผงวงจรไฟฟ้า 3,819.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อละ 4.10) ยางพารา 3,551.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.82) น้ำมันสำเร็จรูป3,041.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.27) ผลิตภัณฑ์ยาง 3,013.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.24) เม็ดพลาสติก 2,868.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.08) เคมีภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก2,712.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.91) และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก 2,524.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.71)โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 45,334.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 48.71 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 53.29 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกในตลาดสำคัญมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.27 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.81 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.65 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.40

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 17,908.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 40.32) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 11,822.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.62) สินค้าเชื้อเพลิง 8,497.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.13) สินค้าอุปโภคบริโภค 4,313.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.71)สินค้าหมวดยานพาหนะ 1,822.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.10) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 55.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.12) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 นี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดหลักๆ มีมูลค่านำเข้าขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ยกเว้นการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 34.09 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 115.52 สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.70 สินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.28 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.85และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.83

  • แหล่งนำเข้า

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.32 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้ายังคงอยู่ระดับเดิม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแล้วจะพบว่าในไตรมาสที่ 2 นี้มีมูลค่านำเข้าจากทุกแหล่งนำเข้าหลักเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.55 กลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.00 สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.80 และสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552

แนวโน้มการส่งออก ปี 2553

กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปี 2553 จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ร้อยละ 14มูลค่าประมาณ 173,766 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 20 มูลค่าประมาณ 182,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแนวทาง ดังนี้ คือ

1.ยุทธศาสตร์การส่งออกของไทยจะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับภูมิภาคเอเชีย (อาเซียน จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย) รองลงมาคือประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยยังคงรักษาตลาดหลัก ๆคือ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ไปพร้อมกัน เนื่องจาก ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่มั่นคง เพราะประสบปัญหาด้านพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้าง โดยภูมิภาคเอเชียซึ่งมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง กำลังทวีบทบาทในเศรษฐกิจโลก และมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการลงทุนของโลก รวมถึงปัจจุบัน อาเซียนและจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นของไทย ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง (Dynamic markets) และไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาและขยายเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

นอกจากนี้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายให้ความสำคัญกับ AEC เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ในอาเซียนโดยส่งเสริมการผลิต การค้า และการลงทุนของภาคเอกชนไทยในอาเซียน เพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (แหล่งวัตถุดิบ แหล่งแรงงาน ตลาดการค้า และแหล่งการลงทุน) ให้กว้างขวางขึ้นจากตลาดของไทยเอง (ประชากร 67ล้านคน) เป็นตลาดอาเซียน (ประชากร 570 ล้านคน) รวมกันเป็นตลาดเดียว (Single market)

2. ขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดภายในประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาภาคส่งออกในระยะยาว (ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงประมาณถึงร้อยละ 70 ของ GDP) และในการพัฒนาตลาดภายใน สมควรปรับทัศนะของผู้ประกอบการให้ขยายมิติเป็นตลาดอาเซียน (Single market) โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนทั้งในด้านการตลาดและด้านที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 18,568.68 ล้านบาทซึ่งลดลงร้อยละ 16.60 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือนในไตรมาสที่2 ของปี 2553 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,985.15 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิเพียง 1,583.55 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนขยายตัวร้อยละ 51.78

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 32,480.30 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยมีมูลค่าเงินลงทุน 9,330.72 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ซึ่งมีเงินลงทุน 8,581.76 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์มีเงินลงทุน 4,104.77 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมคือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 12,389.79 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศฮ่องกงและประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 3,371.80 ล้านบาท และ 2,402.45 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIมีจำนวนทั้งสิ้น 346 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 210 โครงการโดยมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 139,400 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 117.81 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100%จำนวน 122 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 40,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 86 โครงการ เป็นเงินลงทุน 67,100 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 67,300 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 29,000 ล้านบาท และเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 12,900 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 7 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 19,570ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวน 73 โครงการ มีเงินลงทุน 15,907 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์จำนวน 20 โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,437 ล้านบาท และประเทศจีน 8 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน8,040 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ