สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 26, 2010 15:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีประมาณ 1,976,221 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.63 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กแทบทุกตัวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.88 โดย เหล็กแผ่นรีดเย็นมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 103.47 เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กประเภทนี้เพิ่มขึ้นเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.55 ยกเว้นเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ที่ลดลง ร้อยละ 13.94 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.44 เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผู้ผลิตคาดการณ์ว่าสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้น จึงเร่งการผลิตเพื่อเก็บเป็นสต๊อกไว้

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งปีแรก ปี 2553 มีประมาณ 3,883,277เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.38 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.45 โดย เหล็กแผ่นรีดเย็นมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 123.53 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 78.01 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.59 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.68

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ประมาณ 3,165,115 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากปริมาณการใช้ของเหล็กทรงแบนที่เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 86.69 และเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.44 สำหรับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญ จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมขยายตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเร่งโอนกรรมสิทธิ์ของผู้บริโภคจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2553 ประมาณ 6,229,426 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากปริมาณการใช้ของเหล็กทรงแบนที่เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 88.79 และเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.80

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 46,825 ล้านบาท และ 2,052,641 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ37.18 และ 36.42 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 412.24 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 275.03 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 184.28

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 10,413 ล้านบาท เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 8,880 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า7,422 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยูเครน

หมายเหตุ

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งปีแรก ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 113,310 ล้านบาท และ 4,800,920 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.23และ 78.82 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 201.17 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 158.76 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 119.87

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 20,210 ล้านบาท เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 17,423 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า13,054 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยูเครน

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 10,569 ล้านบาท และ 417,612 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.13และ 21.74 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 316.02 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 303.41 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 174.04

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 2,287 ล้านบาท เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 1,860 ล้านบาท และท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 1,787 ล้านบาท

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในครึ่งปีแรก ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 24,299 ล้านบาท และ 839,825 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.72และ 20.22 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 276.18 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 256.91 และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 229.51

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 5,394 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 3,908 ล้านบาท เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 3,138 ล้านบาท

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.63 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.85 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.18 และ 36.42 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 412.24 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 275.03 และเหล็กแผ่นเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 184.28 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.13 และ 21.74 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 316.02 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 303.41 ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากการฟื้นตัวของประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.38 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.48 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.23 และ 78.82 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 201.17 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 158.76 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 119.87 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.72 และ 20.22 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 276.18 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 256.91

ราคาเสนอขายบิลเล็ตในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเพิ่มขึ้น โดยที่ฟิลิปปินส์ราคาอยู่ในช่วง 540 — 545 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนบิลเล็ตที่เสนอขายมายังประเทศไทยอยู่ในช่วง 560 — 570เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (cfr (2) จากยูเครน ทั้งนี้ ผู้ค้าให้ความเห็นว่าราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาเศษเหล็กในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจาก 365 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนมาเป็น 385 ในปลายเดือนกรกฎาคม

บริษัท POSCO ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีออกมายอมรับว่า บริษัทได้ตกลงยอมรับราคาแร่เหล็กที่เพิ่มขึ้น 26% สำหรับแร่เหล็กที่จะจัดส่งระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ระบุราคาของแร่เหล็กอย่างชัดเจน แต่ก็คาดได้ว่า Rio Tinto กับ BHP Billiton จะตกลงราคาแร่เหล็กไตรมาส 3 กับผู้ผลิตเหล็กเกาหลีและผู้ผลิตเหล็กญี่ปุ่นที่ 147 เหรียญต่อตันที่ท่าต้นทาง

3.แนวโน้ม

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว ทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกที่มีอยู่เริ่มลดลง ผู้ผลิตจึงต้องผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

หมายเหตุ

(2) Cfr ย่อมาจาก Cost and Freight

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ