สศอ.เผย ธปท.ส่งไม้ต่อ จัดเก็บฐานข้อมูลอุตฯชาติ ลดความซ้ำซ้อน สร้างเอกภาพการทำงาน มั่นใจวิเคราะห์ และส่งสัญญาณชี้นำทางเศรษฐกิจอย่างตรงประเด็น เชื่อทั้งภาครัฐและเอกชนได้ประโยชน์ถ้วนหน้า
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการเนื่องจาก สศอ.และธปท.เห็นพ้องต้องกันว่าการจัดทำข้อมูลด้านอุตสาหกรรมควรมีหน่วยงานที่เป็นหนึ่งเดียวดำเนินการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทำงานโดยที่ผ่านมา สศอ.ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม เพื่อเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขึ้นครั้งแรก ในปี 2542 โดยได้รับความร่วมมือทางด้านวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศจากประเทศญี่ปุ่น (Jica : Japan International Cooperation Agency) ภายใต้โครงการช่วยเหลือการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม (The Development of Industrial in the Kingdom of Thailand) โดยดำเนินการนำร่องสำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงงาน จำนวน 377 โรงงาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม 49 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของผลผลิตอุตสาหกรรม (GDP) ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 30
“การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม ของ สศอ.มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยปัจจุบันฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาวะอุตสาหกรรม และรายงานตัวเลขอุตสาหกรรม ทั้งรายเดือน รายไตรมาส และรายปี มีความแข็งแกร่งและครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด เพื่อสอดคล้องกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้มีฐานข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ 2,121 โรงงาน ครอบคลุม 53 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 216 ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุม GDP ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 75 ซึ่งจะเห็นได้ถึงก้าวแห่งการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ซึ่งบทวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรมของ สศอ.ได้รับความเชื่อถือมาเป็นลำดับ และนี้คืออีกจุดหนึ่งที่ ธปท.ให้ความไว้วางใจ เพื่อให้ สศอ.เป็นหน่วยงานหนึ่งเดียวที่ทำการรวบรวมข้อมูลด้านอุตสาหกรรมของประเทศ และธปท.จะได้นำข้อมูลภาคอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป”
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกันมาเป็นเวลายาวนานเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นตัวชี้เศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งที่สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและลดภาระความซ้ำซ้อนในการจัดทำข้อมูลของหน่วยงานทั้งสองอีกด้วย เนื่องจาก ธปท.มีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อใช้ประกอบการ กำหนดนโยบายการเงินให้สามารถตอบสนองและส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ธปท.มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจจำนวนมากและเนื่องจากภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น การจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยสอบถามภาวะการผลิตจากผู้ประกอบการโดยตรงทุกเดือน จะทำให้ผู้วางนโยบายสามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างถูกต้องต่อไป
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ทั้งธปท.และสศอ.ได้มีการจัดทำข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และปรับปรุงร่วมกันมาได้ระยะหนึ่งแล้วจนสามารถสนองความต้องการ การใช้งานของทั้ง 2 หน่วยงานได้อย่างน่าพอใจ สามารถสะท้อนภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ธปท. จึงได้พิจารณายุติการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในส่วนของธปท.ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลโดย สศอ. เป็นข้อมูลทางการของประเทศ แต่เพียงแห่งเดียว โดยการประสานความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรจะยังคงอยู่ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--