กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--คอร์แอนด์พีค
โดย นายฮิว โยชิดะ รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์
นายแอนดี้ ไคต์ จากบริษัท การ์ทเนอร์ ได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนศูนย์ข้อมูลให้ทันสมัยเป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้ว เขาเตือนว่าศูนย์ข้อมูลได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญแล้วพร้อมทั้งได้ระบุถึงสัญญาณเตือนที่สำคัญดังต่อไปนี้
โครงสร้างพื้นฐานและระบบไอทีเก่าแก่กำลังสร้างภาระเพิ่มขึ้นในด้านการบำรุงรักษา ขณะที่การเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานและระบบใหม่ๆ ก็อาจประสบปัญหายุ่งยากมากขึ้นและต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก จะเห็นได้ว่าทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงมักจะไม่พร้อมใช้งานและยังมีทรัพยากรอีกมากที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ “การเข้าถึงสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นข้อมูลแบบมีโครงสร้างพร้อมใช้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างยิ่ง องค์กรธุรกิจต่างยอมจำนนที่จะต้องดำเนินงานโดยปราศจากข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ช่วยในการตัดสินใจ” โลกธุรกิจกำลังสับสนวุ่นวายอย่างมากและมักจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้จากทั่วโลก อย่างเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปรับตัวลดลง 1000 จุด และเด้งกลับ 600 จุดในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในกรีซ หรือการที่บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพยาบางรายถูกดำเนินการตรวจสอบ ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพของระบบไอทีที่จะนำมาใช้ด้วย
อินเตอร์เฟซใหม่อย่างการเชื่อมต่อเว็บและโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์ล้วนสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมในปริมาณสูง ส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องขยายขนาดของระบบจัดเก็บข้อมูลดั้งเดิมให้ใหญ่ขึ้น แต่เนื่องจากวงจรการใช้งานหรือการเช่าระบบจัดเก็บข้อมูลมักจะมีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 3-5 ปี ขณะที่การโยกย้ายไปเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่อาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนหรือ กว่านั้น ดังนั้นทางออกเดียวที่ดูเหมือนจะพอเยียวยาได้บ้างก็คือการยืดอายุการใช้งานระบบเดิมที่มีอยู่แม้ว่าระบบนั้นจะตกรุ่นไปแล้วสองหรือสามรุ่นก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าข้อมูลเก่าจำนวนมากยังคง ถูกเก็บสะสมไว้ในระบบจัดเก็บข้อมูลระดับชั้นที่ 1 ที่มีต้นทุนสูงและจะต้องทำการสำรองข้อมูลเก็บไว้นานหลายปีแม้ว่า 80-90% ของข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวก็ตาม ด้วยสัญญาณเตือนนี้และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของข้อมูลทำให้เราจำเป็นต้องหันมาพิจารณาอีกครั้งว่าข้อมูลได้รับการจัดวางไว้ในชั้นจัดเก็บ “ที่เหมาะสม” ของระบบจัดเก็บข้อมูลหรือไม่ แล้วเรารู้หรือไม่ว่าชั้น “ที่เหมาะสม” คืออะไร เราได้สร้างเกณฑ์มาตรฐานชี้วัดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทั้งหมดแล้วหรือยัง เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้โดยไม่ต้องกำจัดระบบจัดเก็บข้อมูลเก่าของเราที่ยังคงเหลืออีก 2 หรือ 3 ปีจึงจะเสื่อมราคาได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการดำเนินงานกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งของงบประมาณด้านไอทีอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสะสมของข้อมูลเนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีนั่นเอง
ประเด็นด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกำลังเป็นปัญหาสำคัญแม้แต่ในองค์กรธุรกิจที่มีการควบคุมไม่เข้มงวดนัก การเข้ารหัสลับข้อมูลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวกำลังเป็นที่ต้องการขององค์กรเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่โซลูชั่นการเข้ารหัสลับดูเหมือนจะปรับใช้ยากและเสี่ยงที่จะทำให้ข้อมูลเกิดการสูญหายได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่ใช้งานระบบเดิมๆ อยู่จึงเสี่ยงที่จะต้องเสียค่าปรับเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายที่กำลังทวีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก การ ลดความเสี่ยงหรืออย่างน้อยสามารถจัดการกับความเสี่ยงให้ได้นั้น ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องในทุกแวดวงอุตสาหกรรม จึงเกิดคำถามที่ว่า เรากำลังใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปกป้องข้อมูลของเราอยู่หรือไม่ และด้วยต้นทุนที่เหมาะสมหรือเปล่า หรือจะแน่ใจได้อย่างไรว่า “ความล้มเหลว” จะไม่เกิดขึ้น
เนื่องจากมีความต้องการด้านไอทีเพิ่มขึ้น ความพร้อมใช้งานของกระแสไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการทำงานของระบบไอทีจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง จะเห็นได้ว่าในหลายภูมิภาค การจัดหากระแสไฟฟ้ามาใช้งานให้ได้อย่างต่อเนื่องนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องน่ากังวล ทำให้หลายบริษัทต้องย้ายฐานที่ตั้งใหม่เพื่อให้แน่ใจได้ว่าธุรกิจของตนจะสามารถดำเนินงานได้อย่างไม่มีสะดุด ขณะที่การประหยัดพลังงานก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้ด้วยการเปลี่ยนระบบเดิมที่กินไฟมาใช้งานระบบปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การเปลี่ยนระบบก็อาจก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากได้หากยังคงมีข้อมูลสะสมเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเช่นนี้
ถ้าสัญญาณเตือนเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็น่าจะได้เวลาแล้วที่จะต้องลงมือและแปรรูปศูนย์ข้อมูลให้กลายเป็นศูนย์ข้อมูลที่มุ่งเน้นความต้องการทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง มีความคล่องตัวสูง และเป็นศูนย์ข้อมูลที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต ข่าวดีก็คือขณะนี้มีเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมใช้สำหรับการแปรรูประบบดั้งเดิมของคุณโดยอาศัยระบบเสมือนจริงและเครื่องมือการจัดการระบบที่จะเชื่อมโยงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเข้ากับประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานและให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ได้อย่างคุ้มค่า จะเห็นได้ว่ามีบางบริษัทกำลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันด้วยการใช้ระบบเสมือนจริงในการโยกย้ายระบบจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมที่มีขนาดความจุระดับเพตาไบต์ และสามารถเรียกคืนความจุของระบบจัดเก็บเดิมมาใช้งานได้มากถึง 40% หรือกว่านั้นโดยอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดิสก์อย่างอิสระ (Dynamic Provisioning)
ในบทความชิ้นต่อไป จะเป็นการลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับการแปรูปศูนย์ข้อมูลโดยเฉพาะ และแนวโน้มของโครงสร้างแบบรวมและแบบผสานเข้าด้วยกันที่สนับสนุนให้เกิดแนวทางใหม่ในการปรับเปลี่ยนศูนย์ข้อมูลให้ทันสมัย
สื่อมวลชน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
บริษัท คอร์แอนด์พีค จำกัด
โทร. 02 439 4600 ต่อ 8300 มือถือ 081 694 7807 srisuput@corepeak.com