ก.ล.ต. จับมือ 5 องค์กรร่วมแถลงความสำเร็จด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 17:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ตลท. เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Asian Corporate Governance Association (“ACGA”) และ CLSA Asia-Pacific Markets ประกาศผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของประเทศในเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า CG Watch โดยครั้งนี้ ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 4 จาก 11 ประเทศ และได้รับการยกย่องว่า มีพัฒนาการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (“IOD”) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสมาคมบริษัท จดทะเบียนไทย จึงร่วมกันประกาศความสำเร็จครั้งนี้ พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (“บจ.”) ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ในการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อปี 2550 ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 8 คราวนี้เรามีพัฒนาการดีขึ้นมาก เราขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 นับว่าสูงสุดตั้งแต่มีการจัดทำรายงาน CG Watch เมื่อปี 2544 ซึ่งความน่าภาคภูมิใจครั้งนี้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในตลาดทุนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างน้อยผลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ ในการยกระดับการกำกับดูแลกิจการของ บจ. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การที่ประเทศไทยได้อยู่ในระดับ Top5 ของการสำรวจครั้งนี้ ก็เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ภาพลักษณ์เรื่องการกำกับดูแลกิจการของ บจ. ไทยในสายตาต่างชาติอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลในระดับหนึ่งแล้ว การสำรวจครั้งนี้ ผู้สำรวจให้น้ำหนักกับการที่ไทยมีการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่สะท้อนให้เห็นนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง มีการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการยกระดับการกำกับดูแลกิจการ เช่น การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารให้ชัดเจนขึ้น การกำหนดบทคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสแก่หน่วยงานทางการ เป็นต้น ก็ได้รับการยอมรับว่า มีส่วนช่วยทำให้ภาพรวมของการกำกับดูแลกิจการของ บจ. ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานนี้ ผู้สำรวจมิได้พิจารณาเพียงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เท่านั้น แต่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติของ บจ. ด้วย โดย บจ. ไทยได้รับคำชมเป็นพิเศษในเรื่องต่าง ๆ ที่ บจ. ถือปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์บังคับ เช่น วิธีปฏิบัติที่ดี ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี โดยเฉพาะในเรื่องการใช้บัตรลงคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนนในการประชุมอย่างรวดเร็วภายในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ ในรายงานยังกล่าวถึงบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อยว่า มีส่วนอย่างมากในการช่วยพัฒนาการกำกับดูแลกิจการ ของ บจ. ให้ดีขึ้น ก.ล.ต. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นผลในวันนี้ ซึ่งทำให้เกิดผลที่ชัดเจนมาก คือ ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายงานก็ได้เสนอแนะเรื่องที่ประเทศไทยควรแก้ไขปรับปรุงไว้เช่นกัน เช่น การปรับปรุงคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล ทั้ง financial และ non-financial ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก การที่ บจ. ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น การปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น” นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อนุกรรมการ ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. โดยได้จัดทำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน หรือ CG Center เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่ บจ. และจัดกิจกรรมให้ความรู้ พร้อมทั้งผลักดันให้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปฏิบัติ ให้เกิดผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะให้กับผู้ประกอบวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ตลอดจนส่งเสริมนักลงทุนให้เข้าใจบทบาทหน้าที่และใช้สิทธิอย่างเหมาะสม ผลการสำรวจในครั้งนี้ที่แสดงว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการดำเนินการต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เดินมาถูกทางแล้ว” นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า “ภารกิจของ IOD คือ การพัฒนาและให้การสนับสนุนกรรมการเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่ง IOD ได้จัดกิจกรรมหลักสูตรการอบรมและสัมมนาต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กรรมการ และมีกรรมการกว่า 3,000 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ในขณะเดียวกัน IOD ยังได้ริเริ่ม “โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ CGR (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies) มาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งผลจากโครงการดังกล่าวมีส่วนกระตุ้นให้ บจ. เห็นถึงความสำคัญและพยายามพัฒนาการกำกับดูแลกิจการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 50 ในปีแรกของโครงการ พัฒนาขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 82 ในปี 2552 และเพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูคณะกรรมการที่มีคุณภาพ IOD ยังได้จัดทำโครงการประกาศเกียรติคุณคณะกรรมการแห่งปี ซึ่งโครงการนี้มีส่วนสำคัญ ในการกระตุ้นให้คณะกรรมการของ บจ. หันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง CG มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ IOD ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนคณะกรรมการของ บจ. ในแง่ของการสรรหากรรมการที่มีคุณภาพ โดยจัดทำทำเนียบกรรมการและกรรมการอาชีพในทำเนียบ IOD ไว้เป็นฐานข้อมูล และในแง่ของการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ IOD ได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือและแนวปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ IOD ได้ร่วมกับ ก.ล.ต. ในการจัดทำคู่มือคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคาดว่าจะเผยแพร่ได้ภายในสิ้นปีนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมานี้ จะช่วยให้กรรมการ บจ. มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี” นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “สมาคมในฐานะผู้ลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ บจ. มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (“บลจ.”) ที่เป็นสมาชิกทุกรายได้ใช้แนวทางการใช้สิทธิออกเสียง (voting policy) ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สมาคมกำหนด และแต่ละ บลจ. ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง (voting record) ไว้บนเว็บไซต์ของ บลจ. แต่ละแห่ง รวมทั้งเปิดเผยผลรวมของทุกสมาชิกในแต่ละหัวข้อไว้บนเว็บไซต์สมาคมอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ บจ. เตรียมการประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมี บลจ. ส่วนหนึ่งเริ่มเปิดเผยผล CGR ไว้ในรายงานการลงทุนของกองทุนภายใต้การบริหาร เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่ากองทุนที่ลงทุนนั้นมีการลงทุนในบริษัทอะไร และบริษัทนั้น ๆ มี CGR ในระดับใด ซึ่งเป็นแนวคิดที่สมาคมสนับสนุนให้ผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. ที่กองทุนลงทุน เพราะบริษัทที่มีผลประกอบการดีนั้นจะมีความเจริญอย่างยั่งยืนได้ก็ด้วยการมีผู้บริหารและพนักงานที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี” นายสรรเสริญ นิลรัตน์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ระบุว่า “ตั้งแต่ที่สมาคมรับผิดชอบดำเนินโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (“AGM”) ร่วมกับ ก.ล.ต. และสมาคม บจ. จนถึงปัจจุบัน สมาคมพบว่า ผลการประเมินดีขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บจ. มีการปรับปรุงในเรื่องการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก ส่วนในด้านผู้ถือหุ้นก็มีพัฒนาการไปทางที่ดีเช่นกัน จากเดิมผู้ถือหุ้นเข้าประชุม ค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นตื่นตัวเข้าร่วมประชุมกันมากขึ้นและให้ความสนใจในการสอบถามประเด็น ข้อสงสัยต่าง ๆ สมาคมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลการประเมิน ของไทยดีขึ้น สำหรับอนาคต สมาคมจะเน้นบทบาทในด้านการพิทักษ์สิทธิ์มากขึ้นพร้อมการให้ความรู้ เช่น การเป็นตัวแทนรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น เพื่อเข้าประชุมแทน เป็นต้น” นายไทยลักษณ์ ลี้ถาวร กรรมการและเลขาธิการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า “สมาคมให้การสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งการที่ บจ. ไทยได้รับคำชมเกี่ยวกับ วิธีปฏิบัติหลาย ๆ เรื่องในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์บังคับ ย่อมแสดง ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของ บจ. ที่จะปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งสมาคมก็พร้อม ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ บจ. ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ บจ. รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทางปฏิบัติระหว่าง บจ. ด้วยกัน สมาคมมั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้การปฏิบัติ ที่แตกต่างกันระหว่าง บจ. ขนาดใหญ่ กับ บจ. ขนาดกลางถึงเล็กลดน้อยลง นอกจากเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ที่ดีแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมได้พยายามส่งเสริมให้ บจ. เห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกกันว่า CSR ด้วย โดยสมาคมได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง CSR Club เพื่อเป็นแหล่งความรู้และส่งเสริมกิจกรรมทางด้าน CSR และในปีหน้า CSR Club ก็จะได้ร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในการจัดทำแนวทางการจัดทำรายงาน CSR เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้าน CSR ของ บจ. ต่อไป” ท้ายที่สุด นายชาลีกล่าวสรุปว่า “การที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติ และมีภาพลักษณ์ ที่ดีขึ้นมากในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและความร่วมมือร่วมใจ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง ๆ แต่ที่ยากยิ่งกว่านี้อีก คือ การพยายามรักษาระดับที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในอนาคต ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันดำเนินการในเรื่องที่ดีอยู่แล้วต่อไป และเรื่องใด ที่ต้องปรับปรุง ก็ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันไปด้วย” ข้อมูลประกอบ CG Watch เป็นรายงานการประเมินการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ของ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย จัดทำโดย Asian Corporate Governance Association (“ACGA”) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีหน้าที่จัดทำรายงานและจัดสัมมนาเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับ CG เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในภูมิภาคเอเชีย ACGA ร่วมกับ CLSA (Cr?dit Lyonnais Securities Asia) Asia-Pacific Markets ทำการรายงาน CG Watch มาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยหลักเกณฑ์การประเมินประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ (1) กฎหมาย กฎเกณฑ์ และการปฏิบัติเกี่ยวกับ CG (CG Rules & Practices) (2) การบังคับใช้ กฎหมาย (Enforcement) (3) สภาพแวดล้อมทางการเมืองและการกำกับดูแล (Political/Regulatory Environment) (4) มาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี (IGAAP) และ (5) วัฒนธรรมการกำกับ ดูแลกิจการ (CG Culture)
แท็ก ก.ล.ต.   เอเชีย   asian  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ