ก.พลังงานจับมือก.ศึกษาธิการลงนาม MOU ปรับเนื้อหาและวิธีการสอนพลังงานในสถานศึกษา เน้นก้าวทันเทคโนโลยีและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ก.พลังงาน วันนี้ (7 ต.ค.53) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เพิ่มเติม) ระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 2 กระทรวงร่วมเป็นสักขีพยาน รวมทั้งมีผู้ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เป็นการลงนามฉบับเพิ่มเติม โดยฉบับแรกจัดทำขึ้นเมื่อปี 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ประสบการณ์ด้านพลังงานแก่นักเรียน นักศึกษา พัฒนาความรู้ทักษะด้านพลังงานแก่ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโครงการและกิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนการสอน อาทิ โครงการต้นกล้าพลังงาน โครงการครูพลังงาน กิจกรรมครูพลังงานนอกรั้วโรงเรียน โครงการห้องเรียนสีเขียว โครงการสร้างจิตสำนึกด้านพลังงานในสถานศึกษา โครงการ petroleum summer school โครงการศูนย์เผยแพร่ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และค่ายเยาวชนต่าง ๆเป็นต้น แต่เนื่องจากสถานการณ์พลังงานและเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวตลอดเวลา รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อรองรับการปรับรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เกิดการแข่งขันในด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างทัดเทียม กระทรวงพลังงานและกระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นว่าควรมีการพัฒนาพลังงานควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพคนโดยปรับกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เพิ่มเติม) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ความเป็นจริงเรื่องพลังงาน เข้าใจสถานการณ์พลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รู้จักประยุกต์ธรรมชาติรอบตัวมาปรับใช้ รู้จักพึ่งพาตนเองด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสศึกษาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานมาใช้เองอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการเพิ่มเติมร่วมกัน ดังนี้ 1. พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เนื้อหาด้านพลังงานของการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา ตลอดจนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ 2. ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เนื้อหาพลังงาน ด้วยรูปแบบและกระบวนการต่างๆ 3. ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมเนื้อหาด้านพลังงาน จัดหารแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ด้านพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางดังกล่าวมีผลในเชิงปฏิบัติ ทั้งสองกระทรวงจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ตลอดจนกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกันต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ