“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” หนุนยกระดับความเป็นอยู่แรงงานไทย เสนอขึ้นค่าจ้าง 2 มิติ

ข่าวทั่วไป Thursday October 7, 2010 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ชง 3 ยุทธศาสตร์ป้อนกรรมการปฏิรูป ผลัก “ปฏิรูปคุณภาพชีวิตลูกจ้าง-แรงงานไทย” เสนอเพิ่มค่าจ้างให้ปรับ 2 มิติ “เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท — คิดจากค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าทักษะและฝีมือ” รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูป (คปร.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการปฏิรูปคุณภาพชีวิตแรงงานและคนจนเมือง เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงข้อเสนอการปฏิรูปคุณภาพชีวิตแรงงานไทย “การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน” ที่เสนอ ต่อคปร.เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้เสนอ 3 ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปชีวิตแรงงานและคนจนเมือง โดยมีข้อเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานด้วยการเพิ่มรายได้ เพิ่มผลิตภาพหรือประสิทธิภาพแรงงาน และเพิ่มสวัสดิการให้แรงงาน ซึ่งยึดเป้าหมายหลักในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นลูกจ้างยากจน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานไทยขณะนี้ แรงงานหรือคนทำงาน ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูคนประมาณ 2 คน คือตนเองและคนอื่นอีกอย่างน้อย 1 คน ทั้งที่ความเป็นจริงด้วยภาระงานและค่าตอบแทนขั้นต่ำ ลำพังจะดูแลตนเองก็ลำบากแล้ว ประกอบกับโครงสร้างสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยแล้ว ที่จะมีแรงงานปลดเกษียณมากขึ้น ทำให้แรงงานปัจจุบันควรจะต้องมีรายได้สูงขึ้นเพียงพอที่จะดูแลคน 2 คนได้อย่างเหมาะสม “กำลังซื้อในตลาดกว่าร้อยละ 42 ของกำลังซื้อทั้งหมด มาจากกำลังซื้อที่มาจากค่าจ้างเงินเดือนของคนกลุ่มแรงงานหรือกลุ่มคนทำงานทั้งสิ้น ฉะนั้น การเพิ่มค่าจ้าง จึงไม่ใช่เพียงยกระดับฐานะการครองชีพของกำลังแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับกำลังซื้อในประเทศ” กรรมการ คสป. กล่าว และว่า โดยเฉพาะการแข่งขันของสินค้าไทยกับต่างประเทศ ไม่ว่าจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย จะต้องแข่งด้วยคุณภาพสูงขึ้น ดังนั้นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของกำลังแรงงานด้วยการเพิ่มโอกาสให้แรงงานมีอำนาจต่อรองและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน กรรมการคสป. กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกครอบงำด้วยการค้าและอุตสาหกรรม จีดีพีนอกภาคเกษตรสูงถึง 90% ขณะที่ภาคเกษตรเหลือพียง 10% มีกำลังแรงงานที่เป็นลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดประมาณ 17 ล้านคน ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกจ้างอีกประมาณ 12 ล้านคน เป็นเกษตรยากจนและคนงานพื้นฐานที่มีรายได้ต่ำ คือคน 2 ประเภทที่เป็นกำลังแรงงานที่ยังด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส ไร้อำนาจ และขาดศักดิ์ศรีในสังคม ดังนั้นการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องคำนึงถึงสถานะของมนุษย์ค่าจ้างรายได้ต่ำ ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบัน เคียงคู่ไปกับการพิจารณาสถานภาพของเกษตรกรยากจน “ประมาณร้อยละ 60 ของคนงานทั้งประเทศมีรายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท ขณะที่การใช้ชีวิตในเมืองในเขตอุตสาหกรรม การดำรงชีพทุกอย่างต้องใช้เงิน และยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งส่งให้พ่อแม่และลูกในชนบท ทำให้คนงานเหล่านี้ต้องทำงานวันละ 10-12 ชม.เพื่อให้มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึง 3 ยุทธศาสตร์ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่แรงงาน ยุทธศาสตร์แรก คือ การเพิ่มค่าจ้างหรือเพิ่มรายได้ ซึ่งเสนอให้ปรับ 2 มิติ โดยมิติแรกต้องทำให้ลูกจ้างไร้ฝีมือหรือคนงานพื้นฐานต้องมีค่าจ้างวันละประมาณ 250 บาท ถ้าได้ค่าจ้างวันละ 250 บาท ทำงานเดือนละประมาณ 26 วัน จะทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้มีรายได้ขั้นต่ำเดือนละประมาณ 6,500 บาท ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างส่วนใหญ่ได้ไม่ถึง 6,000 บาท อีกทั้งยังต้องดิ้นรนทำงานล่วงเวลา 2-4 ชม.เพื่อให้ได้เงินเดือนละ 6,500-7,000 บาท “ตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กำหนดให้ลูกจ้างไม่ควรทำงานเกินวันละ 8 ชม.และค่าจ้างวันละ 400 บาท เพื่อให้สามารถมีเวลาดูแลครอบครัวได้อีก 2 คน และมิติถัดมา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานไทย ต้องทำให้เกิดการให้ค่าตอบแทนที่คิดจากค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าทักษะและฝีมือแรงงานด้วย” กรรมการคสป. กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน โดยเพิ่มความรู้พื้นฐานยกระดับการศึกษาให้ลูกจ้าง ตามที่มาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้ลูกจ้างควรทำงานวันละ 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. และศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองอีก 8 ชม. รวมทั้งเสนอให้เพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพให้ลูกจ้าง เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานไม่จำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานรัฐอย่างเดียว รัฐควรทำหน้าที่กำกับดูแลอำนวยความสะดวก ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้ธุรกิจกู้ไปพัฒนาแรงงานได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3-5% เป็นต้น “การทำให้แรงงานมีความรู้พื้นฐานดีและมีทักษะฝีมือมีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพงาน ทำให้การขึ้นค่าจ้างสูงขึ้นไม่สร้างปัญหาด้านต้นทุนให้กับนายจ้าง และการเพิ่มผลิตภาพก็มิได้หมายความว่าเฉพาะเพิ่มปริมาณและคุณภาพของงานเดิมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่คนงานสามารถไปทำงานอื่น ที่ต้องใช้ความสามารถเพิ่มขึ้นได้ ค่าตอบแทนสูงขึ้นด้วย” สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสวัสดิการแรงงาน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ต้องทำให้เกิดภาวะกินดี อยู่ดี มีสุข คนงานพอจะดำรงชีวิตสะดวกสบายตามอัตภาพ ไม่ว่าแรงงานในหรือนอกระบบ ด้วยการเพิ่มรายได้ทางตรงคือเพิ่มค่าจ้าง และเพิ่มรายได้ทางอ้อมคือเพิ่มสวัสดิการ โดยเสนอให้รัฐจัดสวัสดิการ เช่น บริการการศึกษาฟรี บริการสาธารณสุขฟรีให้แก่แรงงานและบุตรธิดาแบบถ้วนหน้า ขณะเดียวกันบริษัทธุรกิจเอกชนควรจัดสวัสดิการ เช่น หอพักราคาถูก อาหารฟรี รถรับส่งฟรี ให้ แม้บริษัทจะไม่ขึ้นค่าจ้าง แต่ก็มีทางเลือกด้วยการเพิ่มสวัสดิการเหล่านี้ให้ลูกจ้างได้เช่นกัน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สวัสดิการลูกจ้างเรื่องประกันสังคม ก็ได้เสนอให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกับลูกจ้าง โดยมีรัฐเป็นผู้ออกกฎคอยกำกับและร่วมสร้างสรรค์จัดให้มีประกันสังคมถ้วนหน้า, รัฐควรส่งเสริม ไม่ว่าลูกจ้าง เกษตรกร และอาชีพอิสระ ก็ควรจะเข้าถึงประกันสังคม ขณะเดียวกันเรื่องการสังคมสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน องค์การกุศลก็ควรมีบทบาทร่วมกับรัฐด้วย และเสนอให้มีการสนับสนุนการรวมตัวสร้างเครือข่ายของแรงงาน ซึ่งหมายถึงคนทำงาน ไม่ใช่เฉพาะลูกจ้างแรงงาน สร้างกลไกอำนาจต่อรองจากฐานความรู้และทักษะฝีมือ สร้างอำนาจต่อรองจากการจัดตั้งและจัดการรวมตัวเป็นองค์กรตาม ม. 64 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอำนาจต่อรองหลัก คือทำให้เกิดการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นจริง ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ