กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด ๓๙ อำเภอ ๒๕๒ ตำบล ๖๒๙ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๒๑,๗๖๑ ครัวเรือน ๕๔,๘๔๑ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๓๒,๔๒๘ ไร่ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๘ จังหวัด แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ๙ จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร และชลบุรี
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรง
พาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำใน ๑๗ จังหวัด ๓๙ อำเภอ ๒๕๒ ตำบล ๖๒๙ หมู่บ้าน ได้แก่ เชียงราย น่าน สุโขทัย ลำพูน พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร และชลบุรี ราษฎรเดือดร้อน ๒๑,๗๖๑ ครัวเรือน ๕๔,๘๔๑ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๓๒,๔๒๘ ไร่ สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ๘ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน สุโขทัย ลำพูน นครสวรรค์ ชัยนาท นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ๙ จังหวัด ได้แก่ พิจิตร น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งใน ๔ อำเภอ ๑๔ ตำบล ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล สิงห์บุรี น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภออินทร์บุรี รวม ๖ ตำบล ๑ เทศบาล ๑๒๔ ครัวเรือน ราษฎรเดือดร้อน ๔๓๔ คน อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอป่าโมก พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน ๕ อำเภอ ๕๔ ตำบล ๒๙๗ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอมหาราช อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล ราษฎรเดือดร้อน ๔,๔๙๔ ครัวเรือน ๑๓,๙๗๗ คน เพชรบุรี น้ำป่าไหลหลากจากเทือกตะนาวศรี และน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ๖ อำเภอ ๖๓ ตำบล ได้แก่ อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม อำเภอชะอำ ราชบุรี น้ำท่วมพื้นที่ ๕ อำเภอ ๓๓ ตำบล ๑๘๔ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอสวนผึ้ง อำเภอปากท่อ อำเภอจอมบึง อำเภอบ้านคา ราษฎรเดือดร้อน ๕๐๐ ครัวเรือน ๓๕๐๐ คน กาญจนบุรี น้ำท่วมพื้นที่ ๕ อำเภอ ๑๑ ตำบล ได้แก่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอไทรโยค อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอหนองปรือ อำเภอศรีสวัสดิ์ ราษฎรเดือดร้อน ๑,๑๘๓ ครัวเรือน ๒,๗๖๖ คน สมุทรสาคร น้ำท่วมขังพื้นที่ ๓ อำเภอ ๒๕ ตำบล ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอบ้านแพ้ว ราษฎรเดือดร้อน๕๐๐ ครัวเรือน ๒,๐๐๐ คน ชลบุรี น้ำท่วมขังในอำเภอพนัสนิคม รวม ๓ ตำบล ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างสำรวจความเสียหาย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี ๔ ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑๐ ลำปาง เขต ๑๕ เชียงราย และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งเรือท้องแบน ๒๐ ลำ รถผลิตน้ำ ๑ คัน รถบรรทุกน้ำ ๓ คัน รถแบ๊กโฮ ๑ คัน เต็นท์พักอาศัยชั่วคราว ๑๕ หลัง เครื่องสูบน้ำ ๒ เครื่อง และถุงยังชีพ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป