กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเพิ่มระดับเป็น “BBB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงฐานะการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและคาดว่าจะยังคงความแข็งแกร่งไปอีกหลายไตรมาสอันเนื่องมาจากการมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมากและการมีสถานะสภาพคล่องในระดับสูง ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายของประเทศ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ผลงานที่ได้รับการยอมรับมานานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และความพร้อมในการรับงานจากภาครัฐตามโนยบายการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงของการมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าประมาณการในโครงการที่มีระยะเวลาก่อสร้างนานและมีลักษณะสัญญาต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-unit-price Contract) ตลอดจนการมีจำนวนโครงการก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ที่กระจุกตัว และความเสี่ยงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนและเป็นวงจรขึ้นลง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable“ หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำเนินมาตรการในการควบคุมต้นทุนต่อไป นอกจากนี้ การมีสภาพคล่องที่สูงและงบดุลที่แข็งแกร่งน่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงจากปัญหาต้นทุนโครงการสูงเกินประมาณการเนื่องจากโครงการล่าช้าและปัจจัยเสี่ยงอื่นที่คาดไม่ถึงได้ดีกว่าในอดีต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้รับใบอนุญาตประเภทผู้รับเหมาชั้นหนึ่งจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่ง แม้ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่บริษัทก็ได้รับประโยชน์จากลักษณะของการเข้าสู่ธุรกิจที่ยากลำบากเนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาจำนวนน้อยที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการได้รับสิทธิเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหลายแห่งแล้วน่าจะทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะชนะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา บริษัทชนะการประมูลงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าจำนวน 2 สัญญาจากทั้งหมด 9 สัญญา และนอกเหนือจากงานก่อสร้างสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังมีความชำนาญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ตลอดจนงานท่อ และงานประกอบและติดตั้งโครงสร้างเหล็กด้วย ตั้งแต่ปี 2551 การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ 4 ราย และรายเล็ก 15 ราย ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกหลายโครงการซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้หลังจากล่าช้ามาหลายปี
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนกรกฎาคม 2553 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบอยู่ที่ 15,712 ล้านบาท ลดลง 9% จาก 17,186 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 อย่างไรก็ตาม หากรวมมูลค่างานที่บริษัทชนะการประมูลแต่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาแล้ว มูลค่าของงานก่อสร้างในมือจะเพิ่มขึ้นถึง 36,359 ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนสูงที่สุดของบริษัท ทั้งนี้ มูลค่างานในมือจำนวนมากจะเป็นหลักประกันกระแสเงินสดให้แก่บริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า สถานะทางการเงินของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและภาระหนี้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตรากำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 10.17% เมื่อเปรียบเทียบกับ 5.29% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการก่อสร้างโครงการที่ไม่มีกำไรนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากแรงกดดันจากราคาวัสดุก่อสร้างซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่บริษัทก็อยู่ในสถานะที่จะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้เป็นอย่างดีจากการมีสภาพคล่องในระดับสูง
บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มีงบดุลที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 มีภาระหนี้อยู่ที่ 176 ล้านบาท ลดลงจาก 230 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและภาระหนี้ที่ลดลงทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 สูงถึง 2.5 เท่าของภาระหนี้คงค้าง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ในระดับต่ำที่ 3.82% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 58.64 เท่า จาก 27.06 เท่าในปี 2552