สกว. หนุนงานวิจัยด้าน “เอฟทีเอ ภาคประชาชน” ลดผลกระทบด้านลบ จากการเปิดเสรี

ข่าวทั่วไป Tuesday January 9, 2007 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สกว.
สกว. คาดหวังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำผลงานวิจัย “เอฟทีเอ ภาคประชาชน” ไปเป็นประโยชน์ ด้านการจัดการข้อมูลเชิงลึก ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม เพื่อแบ่งปัน และฟื้นฟูให้กับ ผู้เสียประโยชน์ อันเนื่องจากความตกลงเขตการค้าเสรี เพื่อให้เอฟทีเอ ภาคประชาชน ปี 2550 เดินหน้าต่อไปได้
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การสนับสนุนการวิจัย “เอฟทีเอ ภาคประชาชน” ว่า ต้องการให้ชุดโครงการนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ เนื่องจากผลงานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัย ได้รวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ผลกระทบเชิงลบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในวงกว้าง ซึ่งหาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำผลงานวิจัยเอฟทีเอ ภาคประชาชน ไปเป็นประโยชน์ด้านการจัดการข้อมูล เชิงลึก การออกกฎหมายที่รัดกุม จะช่วยทำให้เกิดระบบการแบ่งปัน ฟื้นฟูผู้เสียประโยชน์ อันเนื่องจากความตกลงเขตการค้าเสรี
ทั้งนี้ ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า ช่วงที่ผ่านมาภาคประชาสังคม และประชาชนจำนวนมาก ได้แสดงท่าทีคัดค้านการทำความตกลงการค้าเสรีด้วยสาเหตุต่าง ๆ อันได้แก่ ความไม่เชื่อว่าความตกลงการค้าเสรีจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประเทศ ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางความคิดหรือโลกทัศน์ ความเชื่อในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่แตกต่าง ความวิตกต่อความไม่พร้อมในการเจรจา และความวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบในแง่ลบจากข้อตกลงในบางด้าน และเพื่อช่วยร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะผู้วิจัย ได้ดำเนินชุดโครงการ “การมีส่วนร่วมของประชาชนและกลไกในการลดผลกระทบด้านลบจากการทำความ ตกลงการค้าเสรี
“สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ ต้องอาศัยความคิดเห็นร่วมจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี กับประเทศคู่ค้า ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากเสียงของประชาชน นับว่ามีส่วนสนับสนุนในเวทีการเจรจา เช่น ประชาชนเห็นด้วย หรือคัดค้าน ซึ่งจะทำให้คณะผู้เจรจา มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจาเอฟทีเอ” ศ. ดร.ปิยะวัติ กล่าว
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “ทิศทางเอฟทีเอ ปี 2550 เป็นอย่างไร” โดยเริ่มจากพัฒนาการในระดับโลกว่า ในปี 2550 นี้ เราอาจเห็นรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) หลังจากที่รัสเซียสามารถบรรลุความตกลงกับสหรัฐฯ และมอลโดว่าได้ในช่วงปลายปี 2549 ทำให้ประเทศสำคัญๆ ที่รัสเซียยังต้องเจรจาต่อไปเหลือเพียง กัวเตมาลา คอสตาริกา และเอลซัลวาดอร์เท่านั้น
ในต้นปี 2550 เรายังอาจจะเห็นสหรัฐสามารถบรรลุความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับมาเลเซีย แต่อาจไม่สามารถสรุปการเจรจาการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ได้ พัฒนาการอีกประการหนึ่งที่ต้องจับตามองก็คือ การต่ออายุอำนาจการตกลงการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Fast Track อาจเกิดขึ้นอีกแม้ในช่วงที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา คองเกรส เพราะสหรัฐฯ ต้องการผลักดันการเจรจาในองค์การการค้าโลกต่อไปได้ แต่อำนาจดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมถึงการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี ซึ่งหมายความว่า คงจะไม่มีการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยและสหรัฐอีกหลายปี
ในปีนี้ เราคงจะได้เห็นสหภาพยุโรปขยายสมาชิกภาพต่อเนื่องไป หลังจากรับโรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 26 และ 27 ในปลายปี 2549 นอกจากนี้ ในปีนี้ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนก็อาจเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้
ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะยังไม่เจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศใดๆ เพิ่มเติม แต่อาจมีการลงนามในความตกลงการค้าเสรีไทย—ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Economics Partnership Agreement: JTEPA) และอาจร่วมในการเจรจาแบบภูมิภาคในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน— จีน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน— ญี่ปุ่น และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน—สหภาพยุโรป
ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า แม้ในปี 2550 จะไม่มีการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีเพิ่มเติมในอนาคต รัฐบาลต่อไปก็อาจริเริ่มการเจรจาดังกล่าวขึ้นอีกก็ได้ ประเด็นที่ภาคประชาสังคมควรให้ความสำคัญก็คือ การเร่งกำหนดกติกาในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการออกกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และลดข้อขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ในการเจรจา ซึ่งทุกฝ่ายอึดอัดกับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ วุฒิสภา และแม้แต่ฝ่ายราชการเอง โดยตนพร้อมจะเป็นแกนนำในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวร่วมกับ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยวิจัยเรื่องการสร้างกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี โดยความสนับสนุนของ สกว. มาแล้ว
กฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศดังกล่าวจะกำหนดขั้นตอนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่ชัดเจน เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง หรือโดยผ่านตัวแทนประชาชนคือรัฐสภา โดยจะใช้ต้นแบบของกฎหมายการค้า (Trade Act) ของสหรัฐ แต่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องประเทศไทยมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐฯ ทำให้มีอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้าน้อยกว่า และเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบรัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐที่ปกครองในระบบประธานาธิบดี ทั้งนี้ เมื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จแล้ว ก็จะนำเสนอต่อรัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติต่อไป
ผู้สนใจชุดโครงการ “เอฟทีเอ ภาคประชาชน” หรือ โครงการ “การมีส่วนร่วมของประชาชน และกลไกการลดผลกระทบด้านลบ” สามารถอ่านผลงานวิจัย และให้ข้อเสนอแนะแก่คณะผู้วิจัยได้ที่เว็บไซต์ www.ftadigest.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณศิริเพ็ญ สวัสดิพิศาล ,คุณปาริชาติ สุวรรณ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร 0-2439-4600 ต่อ8203, มือถือ 08-1668-9239

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ