กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--กทช.
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเปิดให้บริการการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Number Portability)หลังจากที่ กทช.มีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 รายตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2553 ให้เริ่มปรับวันละ166,667 บาท มีผลนับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมาจนจะครบ 1 เดือนในวันที่ 15 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ว่า ล่าสุดบริษัทผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 รายคือ บริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ เอไอเอส บริษัททรูมูฟ จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ได้มีหนังสืออุธรณ์มายังสำนักงาน กทช.แล้วว่าจะไม่จ่ายค่าปรับโดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าบริษัทมีความพร้อมในการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับ อย่างไรก็ตามการสั่งปรับดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กทช. เพราะฉะนั้นจะต้องนำคำอุธรณ์ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการกทช.ว่าคำอุธรณ์มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการประชุมสัปดาห์หน้าเนื่องจากสัปดาห์นี้กรรมการกทช.ติดภาระกิจจึงไม่มีการประชุม
รองเลขาธิการกทช.กล่าวต่อไปว่าหากยึดตามมติกรรมการกทช.แม้บริษัทจะมีหนังสืออุธรณ์มายังกทช.แต่การอุธรณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นเหตุให้ค่าปรับจำนวนดังกล่าวต้องสะดุดหยุดลง การปรับจะยังเดินหน้าต่อไปจนกว่าคณะกรรมการกทช.จะมีมติเป็นอย่างอื่น หากคำนวณจากค่าปรับในเดือนแรกนับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้แต่ละบริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับประมาณบริษัทละเกือบ 5 ล้านบาท โดยจะเพิ่มค่าปรับเป็น 2 เท่าในเดือนที่สองและ 3 เท่าในเดือนที่สาม หลังจากนั้นเมื่อครบ 3 เดือนแล้วยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ กทช.ก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้งซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทที่พร้อมแต่ไม่สามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เพราะบริการคงสิทธิเลขหมายนี้ทุกบริษัทต้องพร้อมใจกันจึงจะทำได้ เพราะฉะนั้นหากบริษัทใดแสดงให้เห็นว่ามีการเปิดสวิทซ์เดินระบบและสามารถโอนย้ายเลขหมายได้ก็จะได้รับการพิจารณาแบบหนึ่งแต่ถ้ารายใดไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะพิจารณาอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ความจริงใจและความตั้งใจของแต่ละบริษัทผู้ให้บริการ
“ก่อนหน้านี้บริษัทอ้างว่าที่ดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้เพราะกทช.ไม่อนุมัติ เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับกทช.เพราะกฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าต้องทำไม่ต้องรอให้กทช.อนุมัติ เช่น การตั้งบริษัทเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันเท่าๆกันทุกราย แผนงานของท่านก็ต้องทำอยู่แล้วไม่ว่ากทช.จะอนุมัติหรือไม่” นายประเสริฐกล่าว.