กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--การบินไทย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยมี นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. เรื่องผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เดือนกันยายน 2553
คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบผลการดำเนินงานในเดือนกันยายน 2553 บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer / ASK) สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.79 ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenuer Passenger - Kilometer / RPK) สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.50 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 73.43
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2553 (ไตรมาสที่ 3) บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.78 และสูงกว่าไตรมาส 2/2553 ร้อยละ 4.87 โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.13 สูงกว่าไตรมาส 2/2553 ร้อยละ 21.61 และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 74.88 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.30 และสูงกว่าไตรมาส 2/2553 ร้อยละ 15.97
สำหรับด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ในเดือนกันยายน 2553 มีปริมาณการผลิต พัสดุภัณฑ์ สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.05 และมีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.42 สูงกว่าเดือนสิงหาคม 2553 ร้อยละ 1.24 มีอัตราการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.40 สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.09 และสูงกว่าเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 3.32
ผลการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2553 (ไตรมาส 3) บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตพัสดุภัณฑ์ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.16 และสูงกว่าไตรมาส 2/2553 ร้อยละ 6.49 มีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 36.87 และสูงกว่าไตรมาส 2/2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.82 และมีอัตราการบรรทุกสินค้าเฉลี่ยร้อยละ 61.35 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 13.91
2. เรื่องแผนการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินระยะยาว
(Long - Term Product Plan)
คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบรายละเอียดเบื้องต้นของแผนการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินระยะยาว (Long -Term Product Plan) สำหรับปี 2554 - 2565 เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันกับสายการบินคู่แข่ง รวมถึงการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ทั้งนี้ การพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะเน้นการเพิ่มความสะดวกสบาย ส่งเสริมภาพลักษณ์และมีความทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ปี 2553-2557 ของบริษัทฯ
สำหรับกรอบของแผนการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินระยะยาว บริษัทฯ จะดำเนินการตามกลยุทธ์การกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจการบิน (Strategic Positioning) โดยเป็นสายการบิน Premium Service Network Airline ที่มีผลิตภัณฑ์ในระดับที่แข่งขันได้ และมีบริการที่ยอดเยี่ยมในทุกชั้นโดยสาร นอกจากนี้ ยังให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารใน แต่ละตลาด โดยการกำหนดกลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน รวมถึงการใช้แนวคิดและภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (Product Concept & Identity) มุ่งเน้นที่รูปแบบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านต่างๆ อาทิ การจัดวางรูปแบบที่นั่ง เครื่องมือและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสรีระของผู้โดยสารใน ทุกอิริยาบถ การออกแบบการใช้งานตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละชั้นโดยสาร ภาพลักษณ์และรูปแบบมีสีสันที่สวยงาม ทันสมัย ตรงตามรสนิยมของกลุ่มลูกค้าแต่ละชั้นโดยสาร มี เอกลักษณ์ (Corporate Identity) รวมถึงผลิตภัณฑ์ต้องมีองค์ประกอบของวัสดุ และระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินระยะยาว จะดำเนินการปรับปรุงในฝูงบิน ดังนี้
- เครื่องบินที่จะทำการปรับปรุงจะต้องมีการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งเดิมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนของผลิตภัณฑ์เดิม
- หลังทำการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินแล้ว เครื่องบินจะต้องมีอายุการ ใช้งานก่อนปลดระวาง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งนี้ เครื่องบิน จะต้องปลดระวางที่อายุการใช้งานไม่เดิน 22 ปี
- ห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินหลังจากปรับปรุงแล้ว จะต้องเป็นไปตามแนวทางของ In - Flight Product Concept & Identity ที่กำหนดไว้ และสอดคล้องกับตำแหน่งทาง ยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ
- เครื่องบินทุกลำในฝูงบิน ควรได้รับการปรับปรุงเมื่อมีอายุการใช้งานประมาณครึ่งหนึ่งของอายุการใช้งานทั้งหมดของเครื่องบิน หรือมีอายุประมาณ 7-10 ปี โดยบริษัทฯ มีโครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว 6 โครงการ ได้แก่
1. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน แอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2556
2. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน แอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 4 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2556 - 2557
3. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ จำนวน 6 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2561 - 2562
4. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน แอร์บัส เอ 330-300 จำนวน 8 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2564
5. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน แอร์บัส เอ 330-300 (อาร์อาร์) จำนวน 7 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565
6. โครงการปรับปรุงห้องโดยสารและผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน แอร์บัส เอ 380-800 จำนวน 6 ลำ ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2565 - 2566
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินแต่ละโครงการ จะมีการศึกษา รายละเอียด การออกแบบ ประเมินราคาและงบลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนของการลงทุนในแต่ละ โครงการนำเสนอต่อฝ่ายบริหารฯ เพื่อขออนุมัติอีกครั้งก่อนเริ่มดำเนินการ
3. เรื่องโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ปี 2553
คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบในหลักเกณฑ์โครงการร่วมใจจากองค์กรประจำปี 2553 ในกรอบวงเงิน 2,300 ล้านบาท โดยจ่ายเงินตอบแทนโครงการสูงสุดไม่เกิน 30 เท่าของเงินเดือนค่าจ้าง และให้จ่ายเงินตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการในอัตรา 10 เท่าของเงินเดือน ค่าจ้าง โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และมีอายุงานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
โครงการร่วมใจจากองค์กรต้องเป็นความประสงค์ และสมัครใจร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ และบริษัทฯ จะลดอัตรากำลังตามจำนวนพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ออกตามโครงการ โดยไม่จ้างทดแทน ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังสงวนสิทธิในการพิจารณาที่จะไม่อนุญาตให้พนักงานออกตามโครงการได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและผลกระทบต่องานของบริษัทฯ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งตำแหน่งที่ใช้ความรู้และประสบการณ์เฉพาะ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญยิ่งในการบริหารกำลังคนของบริษัทฯ และการปรับโครงสร้างบุคลากรให้มีสัดส่วนอัตรากำลังที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน การบริหารงาน และการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากรโดยรวมในระยะยาว
ตามที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ได้ส่งข่าวเรื่อง "การบินไทยชี้แจงกรณีไฟฟ้าลัดวงจรห้องช่างฝ่ายครัวดอนเมือง" นั้น ฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ ขอเรียนชี้แจงเพิ่งเติมว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันนี้ (วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2553) เวลา 7.00 น.