สมาคมโรงงานน้ำตาลหวั่นบาทแข็งกระทบรายได้ชาวไร่อ้อย ชี้หลังหลุด 30 บาทต่อดอลล์ ทำราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าปีที่แล้ว

ข่าวทั่วไป Monday October 11, 2010 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายห่วงค่าเงินบาทแข็งกระทบรายได้ชาวไร่อ้อย เผยผลการศึกษาพบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณตันละ 23 บาท ชี้หากไม่อยากให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน ต้องประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากค่าเงินบาทแข็งไปถึง 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้มีสิทธิ์ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีที่แล้วถึงตันละ 160 บาท ชาวไร่รับไม่ได้แน่ นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้ ทำให้ 3 สมาคมน้ำตาลมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาล 70% เป็นของชาวไร่อ้อย และน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด โดยจะตีราคาเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง “3 สมาคมฯ ได้ศึกษาผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ที่ส่งผลต่อราคารับซื้ออ้อย พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณ 23 บาทต่อตัน” นายประกิตกล่าว ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ในการกำหนดราคารับซื้ออ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี2553/2554 หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่าความหวานเฉลี่ย 10 ซี.ซี.เอส. และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) อยู่ที่ 20.50 เซนต์/ปอนด์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะอยู่ที่ 977.56 บาทต่อตัน แต่หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 954.01 บาทต่อตัน และหากเงินบาทแข็งค่ามาที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ 965 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตันอ้อย และยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาทต่อตันอ้อย ก็จะเห็นว ่าต่ำกว่ากันถึงประมาณ 160 บาทต่อตันอ้อย “3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายคงทำอะไรไม่ได้ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักด้วยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมไปถึงชาวไร่อ้อยก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจากการศึกษาความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนต่อราคาอ้อยที่ราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก 20.50 เซนต์ต่อปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนที่จะทำให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2553/2554 ที่ 965.79 บาทต่อตัน ใกล้เคียงกับราคาอ้อยขั้นต้นของปีที่แล้ว ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” นายประกิตกล่าว ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อราคาอ้อยต่ำกว่าที่คาดหมาย รัฐบาลก็จะพยายามหาทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. มาจ่ายค่าอ้อยเพิ่ม ซึ่งก็จะเป็นภาระผูกพันต่อไป ดังนั้น หากรัฐบาลมีหนทางอื่นที่จะช่วยไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ ก็อาจจะไม่ต้องใช้วิธีเพิ่มภาระเงินกู้ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน ประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในนามบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด วารุณี คำไชย (แนน) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 119

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ