แถลงข่าวความคืบหน้าในการรักษา ครบ 1 เดือน ของ "นายอัฐพณ แดงค้ำคุณ" คนไข้ในพระอุปถัมภ์

ข่าวทั่วไป Monday October 11, 2010 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2553 เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 710 หอผู้ป่วยพิเศษ อายุรกรรม ตึกคัคณางค์ ( ชั้น 7 ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประธานมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ โปรดให้ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็น “ ผู้แทนพระองค์ ” เข้าเยี่ยม นายอัฐพณ แดงค้ำคุณ คนไข้ในพระอุปถัมภ์ “ ผู้ป่วยโรคอ้วนขั้นรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ” ( Morbid obesity ) พร้อมมอบแจกันดอกไม้พระราชทาน ซึ่งโปรดให้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รับตัวไว้รักษาพยาบาล จากนั้น ผู้แทนพระองค์ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ร่วมกัน แถลงข่าวความคืบหน้าในการรักษา ครบ 1 เดือน ( 27 ส.ค. — 8 ต.ค. ) ตามที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับตัว นายอัฐพณ แดงค้ำคุณ ( อายุ 32 ปี ภูมิลำเนา จ.นครศรีธรรมราช ) คนไข้ในพระอุปถัมภ์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประธานมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ไว้รักษาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 17.45 น. ณ หอผู้ป่วย ไอซียู อายุรกรรม ตึกคัคณางค์ ( ชั้น 3 ) ด้วย อาการสำคัญ คือ “ โรคอ้วนขั้นรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ” ( Morbid obesity ) เมื่อแรกรับ ผู้ป่วยรู้ตัวดี หายใจเหนื่อย น้ำหนักมาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ ต้องใช้คนช่วยพลิกตะแคงตัว ( คราวละ 8 — 10 คน ) เคยได้รับการรักษาที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน — 18 สิงหาคม 2553 หลังจากนั้น ได้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน โดยได้รับการดูแลต่อเนื่องจากแพทย์ โรงพยาบาลเทศบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมา ได้รับการส่งต่อมายัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันยังคงพักรักษาตัวอยู่ ณ ห้อง 710 ตึกคัคณางค์ ( ชั้น 7 ) ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Morbid obesity obstructive sleep apnea มาด้วยอาการเหนื่อยมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ น้ำหนักเดิม 100 กิโลกรรม ตั้งแต่อายุ 13 — 14 ปี หลังจากนั้นไม่ค่อยได้ชั่งน้ำหนัก แต่เดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ 1 ปีก่อนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เวลานอนต้องนั่งหลับตลอด มีหายใจเฮือกๆ ตอนนอนทุกคืน รับประทานอาหารมาก ชอบรับประทานขนม ดื่มน้ำอัดลม ครั้งละ 1 ลิตร ชาเย็นครั้งละหลายแก้ว ดื่มกาแฟ 3 แก้ว/วัน จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ทำงานบ้านเล็กน้อย ญาติสังเกตว่า ตั้งแต่ต้นปี 2553 เริ่มอ้วนขึ้นมาก แต่ไม่ได้ชั่งน้ำหนัก ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ 3 เดือนก่อนท้องโตมาก ผู้ป่วยกลัวเป็นโรคไต จึงไปตรวจที่คลินิก โดยมีญาติพยุงพาเดินไป เริ่มเดินไม่ได้ นอนติดเตียงตลอด พลิกตัวรองนั่งไม่ได้ แพทย์ที่คลินิกแนะนำให้ไปตรวจและรับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช แพทย์แจ้งว่าเป็นโรคอ้วนหัวใจวายเฉียบพลัน จึงรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลนาน 9 วัน ต่อมาจึงอนุญาตให้กลับบ้าน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น นอนตลอดเวลา ไม่สามารถลุกจากเตียงได้ เหนื่อยเวลาขยับตัว โรงพยาบาลเทศบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ซึ่งได้ให้การดูแลที่บ้าน อย่างต่อเนื่อง จึงได้ส่งตัวไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา แพทย์ได้รับตัวไว้รักษานาน 2 เดือน ( 18 มิ.ย. — 18 ส.ค. 2553 ) แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน ที่ส่งผลต่อการหายใจได้ไม่มีประสิทธิภาพ ภาวะฮอร์โมนบกพร่องจากโรคอ้วน และโรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดปอด จึงได้ให้การรักษาโดยเครื่องช่วยหายใจแบบสวมหน้ากาก และฉีดยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน รวมทั้งควบคุมอาหาร และให้ออกกำลังกายบนเตียง ประวัติด้านสังคม ผู้ป่วยไม่เคยเจ็บป่วย ที่ต้องไปพบแพทย์ ทำงานเป็น DJ กลางคืน ตั้งแต่ 1 ทุ่ม — ตี 1 พ่อแม่อ้วน พี่น้องอ้วนทุกคน แต่เดินช่วยเหลือตัวเองได้ นอนกรนทุกคน สูบบุหรี่ 2 — 3 ซองต่อวัน มานาน 17 ปี หยุดสูบมาได้ 2 เดือน ดื่มสุราบ้างตามโอกาส เมื่อเข้ามารับการรักษา ณ หอผู้ป่วย ไอ ซี ยู อายุรกรรม 1 ตึกคัคณางค์ ( ชั้น 3 ) ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 17.45 น. ด้วยอาการน้ำหนักมาก และเหนื่อยมากขึ้น แรกรับผู้ป่วยรู้สึกตัวดี หายใจเหนื่อย น้ำหนักมาก ขยับตัวไม่ได้ ต้องใช้บุคลากร ครั้งละ 8 — 10 คน ช่วยพลิกตะแคงตัว ทีมแพทย์ประเมินและตรวจร่างกายได้จำกัด เนื่องจากมีชั้นไขมันมาก บวมทั่วตัว มีหัวใจเต้นเร็ว 147 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตปกติ ไม่มีไข้ ออกซิเจนในเลือดต่ำ 88% มีแผลซึมที่หน้าท้องด้านซ้ายและก้น คันตามตัว มีแผลถลอกจากการเกา ทีมแพทย์สหสาขา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ประเมินร่วมกัน โดยประเมินจากประวัติเดิมผู้ป่วย ก่อนให้การรักษา ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วย ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นหัวใจ ซึ่งสรุปผลว่า พบปัญหาต่างๆ ดังนี้ ... 1.หัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ 2.โรคอ้วนส่ง ผลต่อการหายใจได้ไม่มีประสิทธิภาพ 3.ภาวะฮอร์โมนบกพร่อง ได้แก่ ฮอร์โมนเพศต่ำ และฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ 4.โรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดปอด 5.โรคอ้วนลงพุง หัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติตลอด ตั้งแต่มาเข้ารับการรักษา อัตราการเต้นของหัวใจ 140 — 150 ครั้งต่อนาที ทีมแพทย์ ไอ ซี ยู ได้ประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอ็กซเรย์ปอด พบว่า มีลักษณะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ แพทย์ได้ทำอัลตราซาวน์หัวใจจากผนังหน้าอก พบว่ามีการบีบตัวของหัวใจที่น้อยลง และมีหัวใจโตมากขึ้น สาเหตุคาดว่าเกิดจากภาวะที่หัวใจเต้นเร็วตลอดเวลา ดังนั้นในวันที่ 4 กันยายน 2553 จึงได้ทำการให้ยาทางเส้นเลือด เพื่อเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ผลปรากฏว่า ไม่มีการตอบสนองแม้จะได้เพิ่มยาในขนาดสูงก็ตาม จึงได้ทำทำการช็อตไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจในวันที่ 7 กันยายน หลังทำ หัวใจเต้นช้าลงเหลือ 80 ครั้งต่อนาทีในจังหวะปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการทำ และได้ทำการประเมินการทำงานของหัวใจซ้ำในวันที่ 13 กันยายน 2553 พบว่าการบีบตัวของหัวใจกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ จนถึงปัจจุบัน จากภาวะการเจ็บป่วย ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย ถ่ายอุจจาระบ่อยและมีปริมาณมาก หัวใจเต้นเร็ว และมีน้ำคั่งในร่างกาย แพทย์จึงได้ให้ยาขับปัสสาวะ และติดตามผู้ป่วย พบว่ามีการทำงานของไตแย่ลง ค่าไตมากขึ้น และประกอบกับช่วงที่ให้การรักษาหัวใจเต้นเร็ว มีความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง จึงทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ทีมแพทย์ได้ให้การรักษาประคับประคอง โดยการให้สารน้ำที่เพียงพอ และแก้สาเหตุของเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะ ต่อมา ภาวะไตวายเฉียบพลันดีขึ้น ค่าไตมีแนวโน้มดีขึ้น จนกลับมาเป็นปกติในวันที่ 20 กันยายน 2553 ผู้ป่วยรับประทานอาหารและน้ำได้มากขึ้น ภายใต้การควบคุมของแพทย์และพยาบาล โรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดปอด ผู้ป่วยได้รับการรักษามาตั้งแต่อยู่ที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา มีประวัติเมื่อพลิกตะแคงตัวแล้ว มีอาการเหนื่อยฉับพลัน ร่วมกับมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลงผิดปกติ แพทย์จึงได้ให้การรักษาโดยการฉีดยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน และรักษาต่อเนื่อง ในขณะที่อยู่ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่เนื่องด้วยความจำกัดด้านกายภาพของผู้ป่วย จึงทำให้ไม่สามารถตรวจยืนยันได้ชัดเจนว่า มีลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่? เพราะไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าตรวจในเครื่อง CT scan หรือ ตรวจอัลตราซาวน์ เพื่อตรวจหาสาเหตุลิ่มเลือดที่ขา ซึ่งจะส่งผลให้มีลิ่มเลือดที่เส้นเลือดปอดได้ ดังนั้น แพทย์จึงได้ให้การรักษา และติดตามดูผลการรักษาแทน ปัจจุบัน ผลการรักษามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขนาดน่องของผู้ป่วยเล็กลง ( จากเดิมมีขนาด 52.5 เซนติเมตร ลดลงเหลือ 47 เซนติเมตร ) มีการหายใจที่ดีขึ้น ระดับออกซิเจนในเลือดดีขึ้น ทีมแพทย์จึงได้ให้การรักษาต่อไป และวางแผนปรับยา ตามระดับของเลือด โรคอ้วนลงพุง จากประวัติเดิม ดัชนีมวลกาย ( Body mass index : BMI ) = 65 ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ เกิดตามมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พยายามหาวิธีที่จะชั่งน้ำหนักผู้ป่วยให้ถูกต้อง แต่พบว่ามีปัญหาที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับลุกขึ้นนั่ง หรือยืนได้ และจำเป็นต้องนอนบนเตียงที่ใหญ่กว่าปกติ จึงทำให้ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม จึงได้หาวิธีชั่งน้ำหนักทางอ้อมโดยวิธีทางวิศวกรรม ได้มีการนำเครื่องมือชั่งนำหนักติดที่ล้อของเตียงผู้ป่วย แต่ผลปรากฏว่า ยังไม่มีความแม่นยำของตัวเครื่อง ทั้งนี้ จะมีการวางแผนเรื่องเตียงผู้ป่วยต่อไป เพื่อประเมินน้ำหนักของผู้ป่วย ทั้งก่อนและหลังรับการรักษา ส่วนเรื่องการควบคุมความอ้วนของผู้ป่วย ทางทีมแพทย์ พยาบาล และนักโภชนากร ได้คำนวณและจำกัดอาหารของผู้ป่วยให้อยู่ที่ 1,200 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยประกอบเป็นอาหารไขมันต่ำ และมีโปรตีนร้อยละ 50 ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีบางครั้งที่ผู้ป่วยอยากทานขนม หรือน้ำอัดลม/ชา/กาแฟ ที่ผู้ป่วยชอบ ซึ่งได้จัดให้ผู้ป่วยตามสมควร นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว ยังได้จัดให้ผู้ป่วยมีการทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวช่วยตัวเองได้มากขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ในการแกว่งขา และการดึงตัว คล้ายกับการ sit-up มาช่วยในการกายภาพบำบัด จากผลการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มดีขึ้น ดูอ้วนน้อยลง อย่างเห็นได้ชัด และในการพลิกตัว ที่แต่เดิม จะต้องใช้ผู้ช่วย 8 — 10 คน ปัจจุบัน ใช้ผู้ช่วยเพียง 5 — 6 คน ในการช่วยผู้ป่วยพลิกตัว ทั้งนี้ จะต้องหาวิธีการชั่งวัดน้ำหนักที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน และมีความแม่นยำ ( Accuracy ) ต่อไป ระดับฮอร์โมนที่ต่ำลง ได้ให้การรักษาโดยให้ฮอร์โมนไทรอยด์เสริม ซึ่งไม่มีปัญหา หรือพบภาวะแทรกซ้อน ภายหลังได้รับยา จึงวางแผนที่จะปรับยา ตามระดับของฮอร์โมนในเลือดต่อไป ระบบการหายใจ ผู้ป่วยมีภาวะโรคอ้วน ที่ส่งผลต่อการหายใจได้ไม่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ประเมินโดยตรวจการหายใจระหว่างการนอนหลับ ปรากฏผลพบว่า มีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และประสิทธิภาพของการทำงานในช่วงกลางวัน แพทย์จึงได้ให้การรักษาต่อเนื่องจาก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยปรับให้ ช่วงกลางวัน หายใจผ่านทางสายเสียบจมูก ( O2 Cannula 1-2 LPM ) และ ช่วงกลางคืน หายใจโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ ผ่านทางหน้ากาก ( Bipap ) แผนการรักษา ( ต่อเนื่อง ) 1. ช่วยการหายใจ โดยใช้ออกซิเจน และเครื่องช่วยหายใจ โดยผ่านทางหน้ากาก ( Bipap ) ในช่วงกลางคืน 2. ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน 3. ควบคุมอาหาร สารน้ำ และ การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด 4. ฮอร์โมนไทรอยด์ รักษาระดับฮอร์โมนต่ำ 5. ติดตามการเต้นของหัวใจ การทำงานของค่าไตและค่าตับ 6. การรักษาตามอาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 0 2256 4409 หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 0 2256 4183 และ 0 2256 4462

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ