กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--คูดี
ปิดฉากแล้วอย่างประทับใจสำหรับมหกรรมวันวานยังหวานอยู่ — งานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย ไปรษณีย์ไทยส่งมอบจดหมายเหตุประชาชน “เล่าเรื่องเมืองไทยปี 2553” ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมไปรษณียบัตรกำลังใจคนไทย มีให้กัน มอบตัวแทน 3 กลุ่มคนไทย ภรรยาวีรบุรุษจ่าเพียรเดินทางมารับด้วยตนเอง
การจัดงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมายประจำปี 2553 ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ได้เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายในวันนี้ โดยมีกิจกรรมส่งมอบจดหมายโครงการเล่าเรื่องเมืองไทย 2553 ในหัวข้อ “ฉันจะมีส่วนอย่างไรเพื่อช่วยทำให้สังคมไทยเป็นสุข” จำนวน 4,150 ฉบับ อย่างเป็นทางการให้แก่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อเก็บเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำหรับอนุชนคนรุ่นหลัง โดยมีนายปรารภ เหล่าวานิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
นอกจากนี้ นางสมร เปลี่ยนทรงดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ยังได้ได้มอบไปรษณียบัตร “กำลังใจ...คนไทยมีให้กัน” พร้อมเงินบริจาคของประชาชนตลอด 6 วันของการจัดงาน ร่วมกับเงินสมทบของไปรษณีย์ไทยอีก 30,000 บาท ให้แก่ตัวแทน 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์การเรียนรู้ชีวิตจ่าเพียร โดยนางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ ภรรยา พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “วีรบุรุษจ่าเพียร” ผู้ล่วงลับในฐานะตัวแทนตำรวจทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ผู้แทนกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนกลุ่มผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งพิง ตามลำดับ
ในวันเดียวกันนี้ ยังมีกิจกรรมโต้วาทีระดับอุดมศึกษาในญัตติ “เขียนจดหมายส่งผ่านไปรษณีย์ไทย ดีกว่าเอาใจไปเล่นแชท” ระหว่างจุฬา-ธรรมศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ หรือ “อาจารย์แม่” มาเป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก
“ความสุขหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อครั้งวันวานที่ไปรษณีย์ไทยพยายามนำกลับมาให้คนไทยได้สัมผัสในช่วงของการจัดงาน แม้จะเป็นพียงระยเวลาสั้น ๆ แต่ก็หวังว่าจะมีส่วนช่วยฟื้นคืนความรู้สึกดี ๆ ให้แก่ผู้คนในสังคมได้ไม่มากก็น้อย และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะจัดงานดี ๆมีคุณค่าเช่นนี้ ในปีต่อๆ ไป” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวสรุปในพิธีปิดงานอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง งานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย เป็นกิจกรรมที่ไปรษณีย์ไทยจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมคุณค่าการเขียนจดหมายและโปสการ์ด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังคงถือเป็นช่องทางในการถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ ถึงกันในแบบฉบับคลาสสิกที่สื่อยุคดิจิตอลสมัยใหม่ไม่อาจทดแทนได้