ศูนย์ฯ ถนน ประชุมเตรียมความพร้อมลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2550

ข่าวทั่วไป Wednesday March 14, 2007 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนลดอุบัติเหตุเตรียมพร้อมป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2550 โดยเน้นลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้รับบาดเจ็บร้อยละ 15
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีประชาชนใช้รถใช้ถนนเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวต่างจังหวัด เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เป็นผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนบนถนนทางหลวงสายต่างๆ เพิ่มมากขึ้นและอาจเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสอดคล้องกับแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ.2548-2551) กรมป้องกันฯ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2/2550 ขึ้น ในวันพุธที่ 14 มีนาคม 2550 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 352 กรมป้องกันฯ เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาวางแผนและมีมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยตั้งเป้าหมายเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 พร้อมทั้งดำเนินงานตามแผนงานทั้ง 3 แผน คือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2550 ของจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วม โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมาย (3ม 2ข 1ร) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่บนถนนสายหลัก และการสนับสนุนการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการตั้งจุดสกัดตามชุมชนและหมู่บ้าน โดยถือว่าผู้ขับขี่ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
สำหรับ 6 มาตรการป้องกันและปราบปรามที่สำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้แก่ มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด เน้นบังคับใช้กฎหมาย ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ มาตรการควบคุมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ มาตรการอำนวยการความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน มาตรการรณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนปลูกจิตสำนึก มาตรการการกู้ชีพกู้ภัยเพื่อพัฒนาระบบการกู้ชีพ กู้ภัย และการช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพ และมาตรการด้านการรายงานและการประเมินผล เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการบริหารงานจัดการอุบัติเหตุ โดยใช้การเชื่อมโยงข้อมูลที่ทันสมัย และรวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ