กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
เพราะอยากเห็นเด็กไทยมีนิสัยรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต...มูลนิธิไทยคม นำโดย พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการและเลขามูลนิธิฯ จึงร้อยเรียงประสบการณ์จากการที่มูลนิธิทดลองทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ Constructionism ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ซีมัวร์ แพเพิร์ต แห่งสถาบันเทคโนโลยี แมสซาซูเสตต์ สหรัฐอเมริกา (MIT Media Lab) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยรู้จักคิดเรียนรู้ด้วยตนเองจากการลงมือทำ จนกลายเป็นนิสัยรักการเรียนไปตลอดชีวิต สู่หนังสือ “สนุก สุขใจ ได้ปัญญา” อาหารสมองเคลื่อนที่สำหรับเยาวชนและคนไทย โดยมูลนิธิไทยคม จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 5,000 เล่ม โดยได้ทำการเปิดตัวไปแล้ว ณ ร้านขนม ลา วิลล่า ถ.พหลโยธิน วางจำหน่ายครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 30 มีนาคม - 10 เมษายนศกนี้ ณ บูธมูลนิธิไทยคม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และต่อไปจะวางจำหน่ายตามร้านซีเอ็ดบุคเซ็นเตอร์ทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป ราคาเล่มละ195 บาท รายได้จากการจัดจำหน่ายจะสมทบทุนให้แก่มูลนิธิคุณพุ่มนอกจากนั้น ในงานยังมีน้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนที่อยู่ในโครงการนำร่องของมูลนิธิฯ มาพูดถึงวิธีการเรียน และโปรเจ็กต์ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่มูลนิธิฯ ตลอดจนชุมชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะน้องๆ จากโรงเรียนบ้านสามขา จ.ลำปาง ที่ได้ริเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำและได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนช่วยกันสร้างฝายทดน้ำตั้งแต่ พ.ศ.2546-ปัจจุบันถึง 1,206 แห่ง และเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 น้องๆ ปีการศึกษา 2550 จะสืบสานการสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมอีก ภายใต้โครงการ “80 ฝายถวายพ่อหลวง” ทั้งนี้ เพราะมีประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงความจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิดด้วย
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวว่า “ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ซีมัวร์ แพเพิร์ต แห่งสถาบันเทคโนโลยี แมสซาซูเสตต์ สหรัฐอเมริกา (MIT Media Lab) โดยได้ศึกษาและเฝ้าดูพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กถึง 20 ปี ในกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กได้ลงมือทำ ทฤษฎีนี้เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 10 ปีที่แล้ว มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสำคัญ บูรณาการด้วยเทคโนโลยี และนำศีลธรรม จริยธรรมมาประกอบ เพื่อให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความสมานฉันท์ แท้จริงแล้วทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาตรงกับปรัชญาของพุทธศาสนา คือ เป็นการสอนให้เรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง มีศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งปัญญาก็คือ ความรู้ที่เป็นธรรมและมีจริยธรรม การสร้างปัญญาให้กับเด็กเหมือนเราสอนเขาตกปลา สอนให้วิธีทำ เมื่อทำได้ก็จะจำและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและช่วยเหลือผู้อื่นหรือชุมชนในหมู่บ้านได้ แนวความคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตผมมองว่าเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ขณะนี้ได้ขยายวงออกกว้างขึ้น โดยได้พัฒนาในระดับผู้ใหญ่ด้วย อาทิ โครงการวิลเลท แดทเลิร์น (Village That Learn) ชีวิตของน้าน้อยชาวนาผู้ยากจน จนวันนี้ได้เป็นผู้นำชุมชน เพราะการใช้ชีวิตที่มีการวางแผน วางระบบความคิดอย่างเป็นขั้นตอน ขบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องคือแบบก้นหอยหงาย คือเริ่มจากสิ่งที่สนใจ วางแผน เรียนรู้ลงมือทำจริง สรุปความรู้ เก็บบันทึกผลงาน นำเสนอผลงาน วิเคราะห์ ประเมินผล และต่อยอดองค์ความรู้ จนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต”
ในขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ กล่าวถึงบทบาทของมูลนิธิไทยคมว่า “กว่า 15 ปีที่ผ่านมา ที่มูลนิธิมุ่งมั่นและส่งเสริมพัฒนาเด็ก นักเรียน และประชาชนผู้ด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกลให้มีโอกาสในการเรียนรู้เท่าเทียมกับนักเรียนและประชาชนในเมืองใหญ่ โดยเริ่มต้นผ่านโครงการสอนหนังสือทางไกลผ่านดาวเทียม โดยไปติดตั้งดาวเทียม เครื่องรับสัญญาณ เครื่องรับโทรทัศน์ที่โรงเรียนและห้องสมุดหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลหลายแห่ง และกิจกรรมค้นหาตนเองกับ Trybe Thaicom นอกจากนั้น ได้จัดทำโครงการประภาคารปัญญา (Light House Project) เพื่อพัฒนาคนไทยโดยนำเอาเทคโนโลยีการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มาประยุกต์ใช้กับโรงเรียน โดยปรากฏว่ามีผลตอบรับอย่างดียิ่งจากระดับชุมชน โรงเรียน และมหาวิทยาลัยตามลำดับ และในวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้นำทฤษฎีนี้ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือให้คนไทยทุกคนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองได้”
หนังสือ “สนุก สุขใจ ได้ปัญญา” วางจำหน่ายครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 30 มีนาคม - 10 เมษายนศกนี้ ณ บูธมูลนิธิไทยคม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และต่อไปจะวางจำหน่ายตามร้านซีเอ็ดบุคเซ็นเตอร์ทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป ในราคาเล่มละ 195 บาท รายได้จากการจัดจำหน่ายจะสมทบทุนให้แก่มูลนิธิคุณพุ่ม
บทสัมภาษณ์เด็กๆ ที่เรียนรู้ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา แล้วลงมือปฏิบัติ
โครงงานบ้านไอศกรีม ของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดย มิน-จิรัฎฐ์ ยงสวัสดิกุล วัย 11 ปี ตัวแทนกลุ่ม เปิดเผยว่า “เกิดขึ้นจากความสนใจ ที่ชอบทานไอศกรีม จึงอยากจะเรียนรู้วิธีการผลิต โครงการนี้ จัดทำขึ้น 4 เดือนแล้ว โดยเริ่มต้นจาก การเรียนรู้เรื่องชีววิทยา การพาสเจอร์ไรซ์ สารอาหารจำเป็น เรื่องเคมี สถานะของสาร กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ให้รู้ว่าไอศกรีมมีสารอาหารอะไรบ้าง มีสารปนเปื้อนหรือไม่ เมื่อได้ความรู้เรื่องชีววิทยาและเคมีแล้ว ก็สามารถผลิตไอศกรีมได้ ประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่ เรื่องสุขลักษณะในการทานอาหาร ความรู้เรื่องสารปนเปื้อน การเลือกซื้ออาหาร หากสารอาหารในไอศกรีมที่สำคัญไม่ครบ ก็เพิ่มท้อปปิ้งที่มีประโยชน์ เรียนองค์ประกอบเรื่องต้นทุน กำไร เรื่องการตลาดว่าทำอย่างไรจะขายได้ มีการฝึกเรื่อง Teamwork สร้างเทคนิคในการการทำงานร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตร เมื่อไอศกรีม เป็นของหวานหนึ่งที่ชอบ จึงมีรัก ในการเรียน อยากจะไปโรงเรียน เพื่อเรียนเพิ่มเติมมากๆ ขึ้นไป”
โครงงานธนาคารสมอง ของโรงเรียนบ้านสามขา โดยน้องฝน หรือ นางสาวนิตยา อุทธิยะ วัย 21 ปี อดีตนักเรียน หนึ่งในแกนนำของกลุ่มเยาวชนบ้านสามขา เปิดเผยว่า “เพราะทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หนูจึงได้กระบวนการคิด การจัดการ และได้ลงมือปฏิบัติจริง จุดเริ่มต้นโครงงานธนาคารสมอง มาจากเงินทุนเพียง 33,000 บาทที่เด็กๆ บ้านสามขาเหลือจากการเปิดค่ายภาษาอังกฤษและมีคนมอบสบทบให้ ด้วยความสำนึกในพระคุณและ อยากตอบแทนผู้ใหญ่ในชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือเรา หาข้าวหาปลา หาสถานที่ให้ตอนเราเข้าค่าย และผู้ใหญ่ก็ตกอยู่ในฐานะลำบากเพราะเป็นหนี้นอกระบบ พวกเราจึงรวมกันจัดตั้งเป็นธนาคารสมอง แบ่งหน้าที่กัน มีประธาน รองประธาน กรรมการ ฝ่ายบัญชี และฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชน ก็เงินไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่เสียดอกเบี้ย แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดผู้กู้ต้องให้เราได้ลงพื้นที่ตามไปดูไปเรียนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติหรือการลงทุนจริงด้วย ซึ่งส่วนมากชาวบ้านจะกู้เงินไปประกอบอาชีพหรือลงทุน อาทิ ปลูกหอม เลี้ยงครั่ง ทำกล้วยอบ เป็นต้น ขณะนี้มีผู้กู้จำนวนมาก นอกจากทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องในชุมชนไม่ให้มีหนี้สินด้วย หนูเชื่อว่าผู้ใหญ่ไม่โกงพวกเราหรอก ถึงโกงก็ไม่เป็นไร เพราะคนที่ยืมเงินเราก็คือพ่อแม่พี่น้องของเราเอง เรื่องบางเรื่องเงินก็ซื้อไม่ได้ เราทำธนาคารสมองเพราะเรารักผู้ใหญ่มากขนาดนี้ เขาก็คงไม่โกงเราหรอก เพราะปัจจุบันธนาคารสมองมีเงินทุนหมุนเวียนถึง 100,000 กว่าบาททีเดียว”
โครงงานฝายชะลอน้ำ ของโรงเรียนบ้านสามขา โดย น้องเฟิร์น หรือ นางสาวปทุมวรรณ วงค์ตั๋นมูล อายุ 18 ปี อดีตนักเรียนโรงเรียนบ้านสามขา หนึ่งในแกนนำของกลุ่มเยาวชนบ้านสามขา เปิดเผยว่าว่า “เมื่อเด็กๆ กลับจากไปดูงานที่ห้วยฮ่องไคร่ จังหวัดเชียงใหม่ กับคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง ที่พระองค์ท่านสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินแห้งแล้งให้กลับมาเชียวชอุ่มชุ่มชื้นได้ ก็อยากทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำที่บ้านของตนบ้าง แต่ก่อนอากาศที่บ้านสามขาร้อนและแห้งแล้งมาก บางครั้งก็เกิดไฟป่าซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากมนุษย์ที่เชื่อว่าถ้าเผาป่าแล้วจะมีเห็ดขึ้น มีผักหวานขึ้น และถ้าฤดูฝนก็เกิดน้ำป่ารุนแรง ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น เราจึงนำแนวคิดของพระองค์ท่านมาพัฒนาและประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบ้านเรา เด็กๆ จึงรวมตัวกันไปสร้างฝายที่ต้นน้ำบนภูเขา สร้างไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น จากเด็กๆ ก็มีผู้ใหญ่มาร่วมด้วยจนมาช่วยกันสร้างทั้งชุมชน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันดูแล รักษา ซ่อมแซมฝายที่ชำรุด มีครั้งหนึ่งไฟป่าลามมาถึงลอง สเตย์ แต่พวกเราก็ฝ่าไฟป่าไปดูฝายกัน เราเป็นห่วง ทำให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเมื่อเด็กเขาทำสิ่งไหน เขาก็จะรักและผูกพันกับสิ่งนั้น จากวันนั้นจนถึงวันนี้เรามีหมู่บ้านเราฝายถึง 1,206 ลูก และอากาศก็ไม่ค่อยร้อนแล้ว ทั้งนี้ เพราะรากของต้นไม้ใหญ่ในป่าสามารถดูดซับน้ำในฝายชะลอน้ำได้ ฤดูร้อนก็จะคลายน้ำออกมา ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี อีกทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วย และเนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา หนูกับน้องๆ บ้านสามขา ตั้งใจไว้ว่าปีนี้จะสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมอีก ภายใต้โครงงาน 80 ฝายถวายพ่อหลวง เพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน เพราะถ้าไม่มีในหลวงที่พระราชทานแนวคิดเรื่องฝาย ชุมชนของเราก็คงจะไม่มีความชุ่มชื้นเช่นนี้ค่ะที่สำคัญต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้แบบบูรณาการ มีกระบวนการคิดเป็นขั้นตอน และสอนให้เราต่อยอดองค์ความรู้”
ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ทั้งสิ้น 3 โรงเรียน ได้แก่ ดรุณสิกขาลัย จ.กรุงเทพมหานคร, บ้านสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และบ้านสามขา จ.ลำปาง โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านน้าน้อย จ.บุรีรัมย์
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net