ก.อุตฯ หนุนโครงการ “รสมือไทยพร้อมปรุง” สร้างมาตรฐานรสชาติอาหารไทยแท้ ดันครัวไทยสู่โลก

ข่าวทั่วไป Friday October 15, 2010 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันอาหาร ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิชาการและภาคเอกชนหลายฝ่ายจัดโครงการ “รสมือไทยพร้อมปรุง”หรือ Taste of Siam หวังสร้างมาตรฐานรสชาติอาหารไทยแท้ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยภูมิปัญญาไทย ทั้งน้ำจิ้ม น้ำปรุงรส น้ำราด-น้ำสลัด น้ำหมัก และน้ำพริกจิ้ม ส่งเสริมเอสเอ็มอีประกวดคิดค้นและผลิตสูตรน้ำปรุงรสสำเร็จรูปด้วยแนวคิด “ไม่ว่าครัวไหนๆ ก็รสชาติเดียวกัน” กระตุ้นผู้ประกอบการตระหนักเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และมีการจัดการสุขลักษณะที่ดีตามหลัก GMP และ HACCP ลดปัญหาถูกกีดกันทางการค้าเรื่องคุณภาพสินค้า หวังช่วงชิงตลาดเครื่องปรุงรสที่มีมูลค่ากว่า 11,600 ล้านบาท มีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 15.3 ต่อปี ทั้งป้อนตลาดร้านอาหารไทยในต่างประเทศกว่า 14,000 แห่งทั่วโลก แก้ปัญหาขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัว ตอบโจทย์ ครัวไทยสู่โลกได้อย่างยั่งยืน นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “อาหารไทยเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้อาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในผู้บริโภคต่างประเทศอย่างแพร่หลาย ในปีพ.ศ.2552 มีร้านอาหารไทยทั่วโลกกว่า 14,000 แห่ง โดยมีจำนวนร้านมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุน พัฒนานวัตกรรมอาหารของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ตลาดร้านอาหารไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันเป็นแนวนโยบายหนึ่งในการผลักดันครัวไทยสู่โลก ซึ่งแนวทางที่สำคัญประการหนึ่งก็คือการสร้างรสชาติอาหารให้มีมาตรฐานไทยแท้ พัฒนาสินค้าอาหารด้วยภูมิปัญญาไทยทั้งแต่งเติมด้วยความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุด ขณะเดียวกันต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นโครงการ “รสมือไทยพร้อมปรุง” หรือ Taste of Siam จึงเป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้พัฒนาน้ำปรุงรสสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ มานำเสนอภายใต้เอกลักษณ์และรสชาติของอาหารไทยที่มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับสากลอย่างแท้จริง เป็นเสมือนเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยให้เติบโตต่อไปได้โดยไม่สะดุด ท่ามกลางปัญหาเรื่องการขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัว และยังช่วยลดขั้นตอนการประกอบอาหารไทยให้มีความรวดเร็วได้อีกด้วย” นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการรสมือไทยพร้อมปรุง(Taste of Siam) กล่าวถึงรายละเอียดโครงการฯ ว่า “จากการติดตามการดำเนินนโยบาย “ครัวไทยสู่โลก” พบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการเติบโตของอาหารไทยในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนนั้น คือ การรักษามาตรฐานรสชาติของอาหารไทย เนื่องมาจากการขาดแคลนและคุณภาพของพ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหารไทย และปัญหาการสมัครขอวีซ่าทำงานของพ่อครัวแม่ครัวจากประเทศไทย ดังนั้นโครงการ “รสมือไทยพร้อมปรุง” จึงเกิดขึ้น โดยการส่งเสริมการคิดค้นและผลิตน้ำปรุงรสสำเร็จรูปแต่ยังคงรสชาติดั้งเดิมในระดับมาตรฐานอาหารไทยที่น่าพอใจ คือการคิดค้นสูตรน้ำปรุงรสสำเร็จรูปสำหรับอาหารไทยประเภทต่างๆ ได้แก่ น้ำจิ้ม น้ำปรุงรสสำเร็จรูป น้ำราด-น้ำสลัด น้ำหมัก และน้ำพริกจิ้ม โครงการ “รสมือไทยพร้อมปรุง” (Taste of Siam)ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชนชั้นนำ และภาควิชาการที่มีหน้าที่สนับสนุนด้านเทคนิคและการวิจัยพัฒนาอาหาร ตลอดจนการร่วมมือจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนทั่วไป โครงการนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านอาหารไทยในระดับโลก และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสพัฒนาภูมิปัญญาด้านอาหารไทยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกได้ทั่วโลก โดยผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็น บุคคลทั่วไป สัญชาติไทย อายุระหว่าง 20 - 60 ปี และสำเร็จการศึกษา ประถมปีที่ 6 ขึ้นไปหรือ เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถสมัครได้โดยดาวน์โหลด ใบสมัคร และ แบบฟอร์มสูตรนํ้าปรุง จากทางเว็บไซต์ www.tasteofsiam.net พร้อมกรอกประวัติส่วนตัว และข้อมูลเกี่ยวกับน้ำปรุงรส 1 สูตร พร้อมทั้งส่วนผสมและขั้นตอนการทำโดยละเอียดสำหรับการทำน้ำปรุงรสปริมาณ 1 ลิตร หรือ 1 กิโลกรัม เพื่อนำไปแบ่งสำหรับบรรจุขวดตั้งโชว์และการทดสอบชิมรส ส่งใบสมัครและข้อมูลมาที่ ตู้ปณ. 9 เสนานิคม กรุงเทพฯ 10902 หรือ ทางโทรสาร 0-2561-2493 และ 0-2579-8294 หรือ อีเมลล์: tasteofsiamproject@gmail.com หรือ tasteofsiamproject@hotmail.com ผู้สมัครสามารถสมัครได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยส่งใบสมัครมาที่โครงการตามข้อมูลข้างต้นภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ทางโครงการฯ จะคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมและเวิร์คชอปจำนวน 150 ราย และคัดเลือกเหลือ 30 รายเพื่อเข้าประกวดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศต่อไป ทั้งนี้เนื้อหาของการฝึกอบรมจะครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตามหลักการของ Food Safety เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 6 วัน โดยเนื้อหาการอบรมได้แก่ เทคนิคการทำอาหาร ความรู้เรื่องเครื่องเทศและสมุนไพรไทย แนวโน้มความนิยมของอาหาร เทคโนโลยีการถนอมอาหารโดยไม่ต้องนำเข้าตู้เย็น การจัดการสุขลักษณะที่ดีตามหลัก GMP และ HACCP มาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาล และความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในอาหาร อนึ่ง ในปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องปรุงรสมีมูลค่า 11,600 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องตลอด 5 ปี โดยเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้วร้อยละ 94.5 หรือเฉลี่ยร้อยละ 15.3 ต่อปี มีสาเหตุมาจากการขยายตัวของร้านอาหารไทย การอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศของคนไทยและคนเอเชีย การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติทำให้รู้จักอาหารไทยมากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในแต่ละตลาดมากขึ้น เช่น แต่เดิมการส่งออกเครื่องปรุงรสจะบรรจุในถุง/กล่องขวดขนาดใหญ่เพื่อเข้าสู่ธุรกิจบริการอาหารในต่างประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อพัฒนาให้มีขนาดบรรจุเล็กลงเหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กหรือคนโสด หรือการทดลองซื้อ ทำให้เพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับผู้ซื้อเพื่อปรับเปลี่ยนสูตรให้มีรสชาติถูกปากของผู้บริโภคท้องถิ่นในแต่ละประเทศมากขึ้น มีการแนะนำสินค้าเพื่อใช้บริโภคควบคู่กับอาหารตะวันตก ทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้ามากขึ้น โดยตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อาเซียน สหราชอาณาจักร ฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ