กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ตลท.
สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอรายงานการศึกษาสาเหตุค่า P/E ratio ของตลาดไทยต่ำเทียบกับ ต่างประเทศ พบว่า P/E ratio ของไทยที่ต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์มานาน ไม่ใช่เพราะบริษัทจดทะเบียนมีพื้นฐานไม่ดี แต่เป็นเพราะความแตกต่างในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดทุน
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “P/E ratio ไทย ทำไมต่ำ”
ใน SET Note ฉบับที่ 2/2550 ว่า ค่า P/E ratio ของไทยต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเช่น มาเลเซียและสิงคโปร์มานานแล้ว และล่าสุดค่า P/E ratio ของไทย ณ วันที่ 30 มกราคม 2550 อยู่ที่ 9.08 เท่า ในขณะที่ของประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อยู่ที่ 18.34 และ 15.03 เท่า ตามลำดับ โดยไม่ได้ต่ำกว่าแค่ในภาพรวม แต่ P/E ratio ของไทยยังต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่า P/E ratio ของไทยไม่ได้ต่ำกว่าเพราะโครงสร้างบริษัทจดทะเบียนตามกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย
อย่างไรก็ตาม ค่า P/E ratio ของไทยที่มีระดับต่ำกว่า ไม่ใช่เพราะบริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการด้อยกว่าบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อพิจารณาภาพรวมความเคลื่อนไหวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและการเคลื่อนไหวทางราคาแล้ว พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีผลประกอบการเติบโต เช่นเดียวกับบริษัทในตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ดัชนีราคาของไทยกลับไม่ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของผลประกอบการ ซึ่งส่งผลให้ค่า P/E ratio ของไทยต่ำกว่าด้วย
“หากดูข้อมูลแล้วจะพบว่า P/E ratio ของไทยที่ต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์นั้น ไม่ได้เป็นเพราะโครงสร้างบริษัทจดทะเบียนตามกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจาก P/E ratio ของไทยต่ำกว่าในเกือบจะทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และไม่ใช่เพราะบริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการไม่ดี แต่เป็นเพราะความแตกต่างในปัจจัยระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดทุน” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว
ในการศึกษาด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติโดยการควบคุมตัวแปรระดับบริษัทที่มีผลต่อ P/E ratio เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ อัตราการจ่ายเงินปันผล quality of earnings และ turnover ratio เป็นต้น พบว่า แม้ปัจจัยพื้นฐานและลักษณะของบริษัทจดทะเบียนเหมือนกันแล้ว บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมี P/E ratio ต่ำกว่าถ้าจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ประมาณ 2.5 เท่า และต่ำกว่าประมาณ 3.5 เท่าหากจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามี Thailand discount ในอัตราส่วนราคาต่อส่วนกำไรสุทธิหรือ P/E ratio
รายงานศึกษายังพบอย่างน้อย 3 ปัจจัยระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดทุน ที่ส่งผลให้เกิด Thailand discount ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (risk-free interest rate) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสิทธิผู้ถือหุ้น (shareholder rights) และความผันผวนของตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่ากองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (emerging market) จะให้ความสำคัญทางด้านสิทธิผู้ถือหุ้น กรอบระเบียบกฎหมายและมาตรฐานทางบัญชีอย่างมาก ในขณะที่ผลประเมินทางด้าน corporate governance (CG-ROSC) ของประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำในด้านของสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิด Thailand discount คือความผันผวนในดัชนีราคาของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาค ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากโครงสร้างผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยและมีพฤติกรรมการซื้อขายเปลี่ยนมือบ่อย (High turnover velocity) อีกทั้งฐานผู้ลงทุนที่มีจำนวนน้อย นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อความผันผวนทางราคาและก่อให้เกิด Thailand P/E ratio discount ดังจะเห็นได้หลังจากการประกาศใช้มาตรการกันเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ค่า P/E ratio ของไทยลดลงจาก 10.1 เท่าเหลือ 8.6 เท่า ภายในวันเดียว ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย
“ดังนั้น เพื่อให้การประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทมีความสมบูรณ์และสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นมากขึ้น จึงควรมีความชัดเจนของนโยบายทางการในระยะยาว รวมถึงมีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ เช่น เพิ่มฐานผู้ลงทุนและสัดส่วน ผู้ลงทุนสถาบัน เป็นต้น เพื่อลดความผันผวน ลดความเสี่ยงเชิงการเมืองและนโยบาย เสริมสร้างธรรมาภิบาลทางด้านสิทธิผู้ถือหุ้น รวมไปถึงมาตรฐานด้านอื่นๆ เช่น กรอบระเบียบกฎหมายและการบัญชีมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากเพื่อลด Thailand P/E ratio discount แล้วยังจะเป็นการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) และช่วยพัฒนาตลาดทุนของไทยในระยะยาวอีกด้วย” ผู้ช่วย ผู้จัดการฯ กล่าวสรุป
ผู้สนใจติดตาม SET Note ได้เพิ่มเติมที่ http://www.set.or.th/setresearch
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797