กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มูลนิธิซี.ซี.เอฟ.
ตลอดเวลาที่ผ่านมาข่าวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยึดครองพื้นที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมักจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้เรื่องราวดีๆ ที่จะนำรอยยิ้มแห่งความสุขของเด็กๆ ภาคใต้กลับคืนมา กำลังเกิดขึ้นที่ “ค่ายศิลปะบำบัดสำหรับเด็ก” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 ตุลาคม 2553 ที่ จ.สงขลา
“ค่ายศิลปะบำบัดสำหรับเด็ก” จัดขึ้นโดยมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กในยะลา นราธิวาส และสตูลกว่า 1,850 คนมาเกือบ 30 ปีแล้ว เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน เพราะเมื่อโรงเรียนถูกเผา ครูถูกเข่นฆ่า พ่อแม่ญาติพี่น้องถูกสังหารหรือบาดเจ็บ เด็กๆ ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ต้องขาดทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ หรือไม่ก็ต้องหยุดเรียนเป็นระยะๆ
เพื่อไม่ให้อนาคตของเด็กและเยาวชนต้องมืดมนไปกว่านี้ มูลนิธิฯ จึงจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นเพื่อปลอบขวัญเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ญาติพี่น้องครูหรือเพื่อนฝูงจากเหตุการณ์รุนแรง โดยได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะและดนตรีบำบัดสำหรับเด็กมาจัดกิจกรรมสนุกๆ ริมทะเลเพื่อให้เด็กได้เกิดความผ่อนคลายทางจิตใจจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่ยากจะระบายออกมาเป็นคำพูด
ใน“ค่ายศิลปะบำบัดสำหรับเด็ก” เด็กๆ จะมีโอกาสทำความรู้จักกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองผ่านกิจกรรม “มือเล่าชีวิต” ซึ่งจะให้เด็กระบายสีนิ้วมือทั้ง 5 ของตนแล้วเล่าความใฝ่ฝัน ความภาคภูมิใจ ความสุข ตลอดจนข้อดีข้อเสียของตัวเอง ผ่านนิ้วมือแต่ละนิ้ว จากนั้นเด็กจะได้ฝึกการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวเองผ่าน “การระบายสีด้วยเมล็ดพืช” ซึ่งจะฝึกให้เด็กเกิดสมาธิกับการสร้างงานศิลปะจากถั่วหลากหลายประเภทที่มีสีสันและใหญ่เล็กแตกต่างกัน อีกวิธีหนึ่งที่เด็กๆ จะชอบกันมากก็คือ “การปั้นดินสร้างจินตนาการ” ซึ่งจะนำการนวดและสัมผัสกับก้อนดินธรรมดาๆ มาเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบอิสระ กิจกรรม “ปาร์ตี้นิทานดวงดาว” และ “การเรียนรู้เส้นผ่านอารมณ์เพลง” ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเด็กๆ ที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนใกล้ชิดคนแล้วคนเล่า โดยใช้นิทาน ดนตรี และการวาดเส้นสายประกอบเพลง มาเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความกดดันพร้อมทั้งกระตุ้นความหวังและความใฝ่ฝันให้บรรเจิดจ้า
“ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เด็กๆ ในภาคใต้แทบจะไม่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะรอบตัวมีแต่เสียงปืนและระเบิด เด็กๆ เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเกี่ยวกับความขัดแย้ง แต่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ดูเหมือนจะยิ่งยืดเยื้อขี้นเรื่อยๆ ความเสียหายทางวัตถุยังพอเยียวยาได้ แต่ความบอบช้ำทางจิตใจนั้นมองไม่ค่อยเห็นและเลือนหายไปได้ยาก ดังนั้น มูลนิธิฯจึงจัดโครงการรณรงค์ช่วยเหลือเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อหาทางนำรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกลับคืนมาสู่ผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ให้เขาได้รับชีวิตวัยเยาว์และวัยศึกษาเล่าเรียนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง มูลนิธิฯ เชื่อว่าการใช้กิจกรรมทางศิลปะหลายรูปแบบผสมผสานกันน่าจะเป็นเครื่องมือบำบัดความปวดร้าวสูญเสียและฟื้นฟูจิตใจตลอดจนสมรรถภาพทางอารมณ์ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี” ดร กรรณชฏา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวสรุป