กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มูลนิธิฟรีแลนด์
สิ้นสุดลงแล้วสำหรับการฝึกอบรมระดับภูมิภาคอาเซียนแก่หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปรามในพื้นที่อนุรักษ์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิฟรีแลนด์ระหว่างวันที่ 4-15 ตุลาคม 2553 โดยการฝึกอบรมนี้นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนและภูฏานเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านการปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกัน ตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพจนสามารถกลับไปปฏิบัติงานลาดตระเวนและบริหารจัดการพื้นที่เพื่อปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การฝึกอบรมนี้ริเริ่มโดยมูลนิธิฟรีแลนด์ ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, และอาเซียนเว็น (ASEAN Wildlife Enforcement Network: ASEAN-WEN) เครือข่ายปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน โดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และสหภาพยุโรป (European Union)
สัตว์ป่าและป่าไม้ในทวีปเอเชียกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากนายพราน ผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าและการตัดไม้เถื่อนที่มักกระทำกันเป็นขบวนการเพื่อหากำไรมูลค่ากว่าพันล้านบาท ปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังของเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยังไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหลาย ขบวนการปล้นทรัพยากรธรรมชาติจึงสามารถเล็ดลอดเข้าไปในผืนป่าและหาผลประโยชน์ทุกทาง ไม่ว่าจะล่าเสือโคร่ง หมี กวาง งาช้าง ไม่เว้นแม้แต่พรรณไม้ต่างๆ เช่น ไม้หอม ไม้สัก ฯลฯ ดังนั้น งานลาดตระเวนและบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จึงเป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุดในการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะระบบนิเวศที่มีความสมดุลย์มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน
มูลนิธิฟรีแลนด์ โดยความสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จัดการฝึกอบรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปรามในงานลาดตระเวนพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดอัตราการลักลอบล่าสัตว์และการทำลายป่าไม้ ในอดีตการฝึกอบรมต่างๆที่ผ่านมาจัดขึ้นเพื่ออบรมเฉพาะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งปฏิบัติงานภาคสนามเท่านั้น แต่ครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าได้เข้ามามีบทบาทกับการอนุรักษ์มากขึ้น
นายอับดุล กาดีร์ อะบู ฮาชิม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทามัน เนการา ประเทศมาเลเซีย หนึ่งในผู้เข้ารับการฝึกอบรมกล่าวว่า “เรารอให้มีการจัดการฝึกอบรมแบบนี้มานานแล้ว การมาร่วมอบรมครั้งนี้ให้ประสบการณ์ใหม่แก่พวกเรา ซึ่งมันมีค่าและเป็นประโยชน์มากๆสำหรับหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนางานปราบปรามให้เป็นระบบมากขึ้น ผมหวังว่าผมจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับงานให้ได้มากที่สุดเพื่อปกป้องทรัยพากรธรรมชาติของมาเลเซียต่อไป“
นายเรนี ไฮ ยาย่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ กรมอุตสาหกรรมและทรัพยากรพื้นฐาน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม กล่าวเสิรมว่า “การมาเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ช่วยให้พวกเรา (หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปราบปราม) มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ผืนป่าและงานปราบปรามมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้พัฒนาให้เราเป็นหัวหน้างานที่มีความชำนาญเพิ่มขึ้น”
“เคยมีคนพูดไว้ว่าเราไม่สามารถปลูกต้นไม้ให้เป็นเงินได้ แต่ตอนนี้เราก็สามารถทำได้แล้วจากการทำคาร์บอนเครดิต อย่างไรก็ตาม งานอนุรักษ์ป่าคงไม่สามารถเห็นผลได้จากการออกนโยบายใหม่ๆ หรือการจัดการประชุม หากยังไม่มีการลงมือปฏิบัติทั้งในส่วนของการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นหมายถึงงานลาดตระเวนในป่าเพื่อป้องกันและจับนายพรานและผู้ลักลอบตัดไม้เถื่อนให้หมดไป ซึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสตีเว่น กาลสเตอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีแลนด์กล่าว
นายสตีเว่นกล่าวเสริมอีกว่า “งานอนุรักษ์ในเอเชียหนักไปทางเรื่องเอกสาร นโยบายและการประชุมมากเกินไป เราควรจะเปลี่ยนจากหัวข้อประชุมให้เป็นหัวข้อสนทนาของคนทั่วไป เพราะพวกอาชญากรที่จ้องจะล่าสัตว์ ตัดไม้ไม่มีการประชุม หากแต่เดินหน้าลงมือดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายอย่างเต็มที่และทำได้ดีมาก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพักจากการประชุมและออกตรวจตรา สืบสวนสอบสวนและจับกุมอาชญากรเหล่านี้มาลงโทษให้ได้”
สอบถามรายละเอียดเพื่มเติม ขอภาพถ่าย วีดีโอ รายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอบรม กรุณาติดต่อ
คุณมุกด์ วงศ์ไชยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารสัมพันธ์ มูลนิธิฟรีแลนด์
โทร. 02 204 2719 - 21 หรืออีเมล์ mook@freeland.org