กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
ผลวิจัยชี้ ผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA น้อย ในขณะที่เม็ดเงินจากภาษีที่สามารถประหยัดได้เมื่อมีการใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ให้ทันเกมการค้าระหว่างประเทศ ที่ยกเอาบริบทแวดล้อมกระบวนการผลิตสินค้ามากีดกันการค้า เช่น เรื่องกฎแหล่งกำเนิด สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ฯลฯ หลายประเทศตื่นตัวในเรื่องนี้แต่ในภาพรวมไทยยังช้า ทีดีอาร์ไอวิจัยต่อช่วยผู้ประกอบการปรับตัว
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิจัยโครงการการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เปิดเผยว่า จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ โดยใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยย้อนหลังไป 19 ปี พบว่า ในภาพรวม FTA ทุกฉบับที่ไทยลงนามไปนั้นส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ต่าง ๆ ของไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ โดยในปี 2552 ผู้ประกอบการภาคส่งออกของไทยมีอัตราการใช้สิทธิฯ 52% ซึ่งทำให้ไทยสามารถประหยัดภาษีได้ราว 7.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หากมีการใช้สิทธิ์เต็มที่ 100% ภาคส่งออกไทยจะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 1.3 แสนล้านบาท ด้านผู้ประกอบการภาคนำเข้ามีอัตราการใช้สิทธิฯเพียง 37% ซึ่งสามารถประหยัดภาษีได้ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยหากมีการเก็บเกี่ยวประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้นำเข้าสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 5.3 หมื่นล้านบาท
สาเหตุของการใช้สิทธิประโยชน์น้อยส่วนหนึ่งเกิดจากแต้มต่อทางภาษีภายใต้ FTA ที่ยังไม่จูงใจพอเมื่อเทียบกับต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้ FTA แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนในการขอใช้สิทธิประโยชน์ โดยหากเราสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้ ภาษีที่ภาคส่งออกและนำเข้าของไทยจะสามารถประหยัดได้จะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าจากที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถเข้าถึงและเกี่ยวเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างแท้จริง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ข้อมูล คำปรึกษา รวมทั้งจัดทำคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในประเด็นต่าง ๆ เช่น อัตราภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงต่าง ๆ แยกตามรายประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ประโยชน์จาก FTA ฉบับใด การเผยแพร่ตารางการลดภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของทั้งไทยและประเทศภาคีตามรหัสพิกัดศุลกากร HS 2007 และ HS 2012 การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขอใช้สิทธิประโยชน์ผ่านช่องทางปกติและทางอินเทอร์เน็ต การใช้ระบบการขอให้หน่วยงานศุลกากรพิจารณาล่วงหน้า (advanced ruling) สำหรับการตรวจสอบพิกัดอัตราศุลกากร อัตราศุลกากร และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อลดปัญหาการตีความพิกัดศุลกากรไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานศุลกากร
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดาวน์โหลดผลการศึกษาที่ได้ระบุสินค้าที่มีการใช้ประโยชน์จาก FTA มากที่สุดใน 30 อันดับแรก และสินค้าที่มีการใช้สิทธิประโยชน์น้อยที่สุดใน 30 อันดับสุดท้าย ได้จากhttp://www.tdri.or.th/th/pdf/util_productSummary.pdf
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักนอกเหนือจากเรื่องของการลดภาษีภายใต้ FTA คือ ในปัจจุบัน มีการนำบริบทแวดล้อมของกระบวนการผลิตมาเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้า เช่น การให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม กฎแหล่งกำเนิด มาตรฐานการผลิต มาตรฐานสุขอนามัย ฯลฯ ซึ่งเป็นเกมเจรจาทางการค้าที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันและจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน
“ประเทศที่มีการปรับตัวอย่างน่าสนใจในเอเชีย เช่น เกาหลี ซึ่งมีการกำหนดแผนดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการปรับปรุงการผลิตให้เป็นแบบ green supply chain ในการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้สินค้าเขาขายไปได้ทั่วโลก ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวในเรื่องนี้ หากประเทศไทยยังขยับตัวช้า ก็อาจพลาดโอกาสทางการค้าที่ควรได้ไปอย่างน่าเสียดาย”
ดร.เชษฐา ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะผู้วิจัยกำลังทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทยใน 12 สาขา ภายหลังจากที่ FTA ต่าง ๆ ของไทยมีผลบังคับใช้ เพื่อให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคการผลิตไทย ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าอุตสาหกรรมใดได้หรือเสียประโยชน์จาก FTA ฉบับต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างไร ผลของการศึกษานี้จะทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถมีข้อมูลล่วงหน้าที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรม วางแผนรับมือเกมการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ.