การบินไทยชูแผนยุทธศาสตร์ “TG100” ในงานประชุมนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี

ข่าวท่องเที่ยว Monday October 18, 2010 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--การบินไทย การบินไทย ชูแผนยุทธศาสตร์ “TG 100” เพื่อเป็นสายการบินที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำด้านธุรกิจการบิน พร้อมเพิ่มความมั่นใจให้ผู้โดยสารในการใช้บริการ ด้วยการร่วมมือกับสาย การบินไทเกอร์ แอร์เวย์ส เปิดไทย ไทเกอร์ เพื่อรองรับตลาดโลว์คอสท์ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานประชุมนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การบินไทย ในหัวข้อ “การสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนของการบินไทย” ว่า การเติบโตของการบินไทยอย่างรวดเร็วและมั่นคงในช่วงระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างการบินไทยให้เป็นสายการบินที่แข็งแกร่งและยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การบินไทยได้มีการนำแผนยุทธศาสตร์ TG100 มาใช้ เพื่อให้การบินไทยเป็นสายการบินที่มีพัฒนาการอย่างยั่งยืนที่แท้จริง โดยแผนยุทธศาสตร์นี้จะนำไปปฏิบัติในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำรงความเป็นผู้นำด้านธุรกิจการบิน และเพิ่มความมั่นใจในการเลือกใช้บริการให้กับผู้โดยสาร เป็นต้น การบินไทยสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจและสภาวะขาดทุนในปี 2551 จนสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังคงมองไปข้างหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้การบินไทยยังมีแผนในการจัดซื้อเครื่องบินใหม่เพื่อเป็นการขยายฝูงบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีผลประกอบการที่ดีในตลาดหุ้นที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจจากผู้ลงทุน รวมถึงมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดี นอกเหนือไปจากการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการ ได้แก่ ปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง และอื่นๆ ทำให้การบินไทยมีความจำเป็นต้องร่วมมือกับสายการบิน Tiger Airways ในการจัดตั้งสายการบิน ไทย ไทเกอร์ ขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด โลว์คอสท์ให้ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้การบินไทยยังมีเป้าหมายในการเป็นสายการบินที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Travel Green เพื่อตอบสนองแนวโน้มการเดินทางและการท่องเที่ยวในอนาคต ดร.เดวิด คาร์บอน กรรมการผู้จัดการเพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ และสกุลเงิน ธนาคาร ดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์ กล่าวในงานประชุมนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การบินไทย ในหัวข้อ “เศรษฐกิจของอาเซียน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป” โดยนำเสนอมุมมองภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจเอเชียทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคเดียวของโลกที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติ เศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบของการล่มสลายของบริษัท Lehman Brothers ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยพลังของตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐหรือภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งมีตัวเลขการขยายตัวของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในอนาคตในระยะยาวต่อไป ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “การขยายตัวของโลกใหม่” ว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจโลกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศไทย และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย จะเป็นแกนนำในการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก อันจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข และการท่องเที่ยว มร. รอย เบิร์น ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของกิจการพาวเดอร์ เบิร์น ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวในหัวข้อ “การท่องเที่ยวแบบครอบครัวในรูปแบบของการเดินทางอย่างหรูหรา” ว่า การท่องเที่ยวแบบครอบครัวอย่างหรูหราในปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญกับความหรูหราสะดวกสบายเท่าๆกับปัจจัยด้านครอบครัว โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความปลอดภัย ความไว้วางใจ และการบริการที่ดี มร. อเล็กซ์ ดิชเตอร์ หัวหน้าส่วนงาน บริษัท โกลบอล แอร์ไลน์ แอนด์ ทราเวล แพรคทิช แมคคินซีย์ แอนด์ โค เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวในหัวข้อ “ความท้าทายในการบริหารจัดการการบินระดับโลก” ว่า อุตสาหกรรมการบินนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ยากลำบาก แต่การบินไทยก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ความท้าทายในการบริหาร อุตสาหกรรมการบินระดับโลกนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ความมีชื่อเสียงทางด้านการบริการ เป็นต้น โดยปัจจัยที่จะช่วยในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ ความสามารถในการจัดการข้อจำกัดต่างๆ การควบคุมรายจ่าย และการคิดค่าบริการ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยก็สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ด้านมร. แอนดี้ แชงแลนด์ รองประธานบริหาร แอร์บัส กล่าวในหัวข้อ “ห้องโดยสารแห่งอนาคต” ว่า แนวโน้มการพัฒนาห้องโดยสารในอนาคตนั้น มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ความสะดวกสบาย การบริการและประสิทธิภาพในการใช้งาน ซึ่งความสะดวกสบายจะเป็นปัจจัยหลักต่อการเลือกใช้บริการของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ในขณะที่ปัจจัยด้านราคาเป็นปัจจัยหลักสำหรับผู้โดยสารในชั้นประหยัด มร. เจมส์ บิลลิ่ง กรรมการผู้จัดการ และวิเคราะห์ตลาดสายการบินเครื่องบินพาณิชย์โบอิ้ง กล่าวในหัวข้อ “ความมหัศจรรย์ของวิศวกรรมสำหรับเครื่องบินในอนาคต” ว่า โบอิ้งได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเครื่องบินสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีศักยภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย น้ำหนักเบา สะอาด มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นสายการบินชั้นนำระดับโลก เช่น การบินไทย ทั้งนี้เราเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างการบินไทยและโบอิ้ง ซึ่งพร้อมจะก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน มร. ปีเตอร์ ฮาบิสัน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การบินเอเชีย แปซิฟิค กล่าวในหัวข้อ “วิวัฒนาการของรูปแบบการบินในศตวรรษที่ 21” ว่า ยุทธศาสตร์ของการพัฒนารูปแบบธุรกิจสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จำเป็นต้องการมีการสร้างเครือข่ายระหว่างสายการบิน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันและการแย่งชิงลูกค้าในตลาดเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตามการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ จำเป็นจะต้องมีความกล้าและความเป็นผู้นำประกอบกันไปด้วย สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ ๐๒-๕๔๕-๒๖๕๔, ๐๒-๕๔๕-๒๖๕๒ โทรสาร ๐๒-๕๔๕-๓๘๙๑

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ