กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
นับเป็นปรากฏครั้งแรกแห่งวงการประกวดนางงาม อย่างเวทีการประกวดนางสาวไทย 2553 ที่กล้านำผู้เข้าประกวด 18 คนสุดท้าย ภายใต้แนวคิด “งามอย่างยั่งยืน” เยี่ยมทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังหญิง ที่สังคมยังพร้อมจะเป็นกำลังใจ และยังเป็นการสืบสานพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยเหล่าสาวงามยังได้รับรู้ถึงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง และการกระทำความรุนแรงต่อสตรี นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมกับผู้ต้องขัง ทั้งเพ้นท์ผ้าบาติค แต่งหน้าขนมเค้ก และยังได้เลี้ยงเด็กทารกที่ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ได้ให้กำเนิดในระหว่างที่กำลังต้องโทษอยู่ โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ นางอังคนึง เล็บนาค ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ให้การต้อนรับสาวงามทั้ง 18 คน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ ตัวแทนโครงการกำลังใจ โครงการในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เผยถึงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีว่า “การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน กระทำอนาจาร หรือแม้กระทั่งการใช้สายตาแทะโลม หรือด้วยคำพูด รวมถึงปัญหาภายในครอบครัว ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง สิ่งต่างๆ เหล่านี้นับเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อสตรีทั้งสิ้น ซึ่งในเวลานี้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีนั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่จัดเป็นปัญหาทางสังคม ชุมชน ไปจนกระทั่งเป็นปัญหาระดับโลก ที่สหประชาชาติได้มีรายงานว่า 6 ใน 10 ของผู้หญิง จะต้องมีช่วงชีวิตหนึ่งที่ต้องเคยประสบกับการถูกระทำความรุนแรง และ 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของสตรี ในช่วงวัย 15-44 ปี เกิดจากการกระทำความรุนแรงต่อสตรีนั่นเอง ดังเช่นผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงแห่งนี้เช่นกัน ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งสิ้น ประกอบกับที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีโอกาสเสด็จมาที่แห่งนี้หลายครั้ง ทรงได้เห็นปัญหาที่บางครั้งกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงให้ได้รับโอกาสเท่าที่ควร จึงได้กำเนิดโครงการกำลังใจขึ้น เพื่อต้องการรณรงค์ให้สังคมไทย เป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านี้ที่แม้จะก้าวพลาด แต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะเริ่มชีวิตใหม่เป็นคนดีของสังคม ดังนั้นทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องหันมาช่วยเหลือกันในการรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อสตรี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหประชาชาติที่ร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ ที่สหประชาชาติได้จัดให้ทุกวันที่ 25 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี เป็นวันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลก”
ด้าน นางอังคนึง เล็บนาค ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง เผยว่า “ในทัณฑสถานหญิงกลางมีผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด 4,500 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงต่อสตรีแทบทั้งสิ้น ส่งผลให้เกิดความกระทบด้านร่างกาย จิตใจ จนกระทั่งนำมาซึ่งการดำเนินคดีความทางกฎหมาย ซึ่งในทัณฑสถานหญิงแห่งนี้ไม่เพียงเป็นสถานที่ควบคุมความประพฤติผู้ต้องขังหญิงที่มีโทษตั้งแต่สถานเบาไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต และยังได้จำแนกความต่างของผู้ต้องขังหญิง ไม่ว่าจะเป็นนักโทษตั้งครรภ์ นักโทษผู้สูงอายุ นักโทษพิการ นักโทษโรคจิต นักโทษติดเชื้อ รวมถึงนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติ นอกจากนี้ในทัณฑสถานหญิงกลาง ยังได้จัดให้มีการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังหญิง อาทิ โภชนาการ เสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า นวดแผนโบราณ รวมทั้งยังจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ มีห้องสมุด จัดให้มีการศึกษานอกระบบตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้เมื่อพ้นโทษได้มีอาชีพรองรับ สามารถดำรงตนเป็นคนดีในสังคม”
บรรยากาศท่ามกลางหลังม่านเหล็กอันแน่นหนา ที่เหล่าสาวงามทั้ง 18 คน ได้เดินเข้าไปภายในทัณฑสถานหญิงกลาง ที่รายล้อมด้วยผู้ต้องขังหญิงนับหลายร้อยชีวิต มาเฝ้ารอที่จะยลโฉมสาวงามกันอย่างใกล้ชิด โดยเหล่าสาวงามทั้ง 18 คน ได้ร่วมทำกิจกรรมเพ้นท์ผ้าบาติค แต่งหน้าขนมเค้ก ร่วมกับผู้ต้องขังหญิง และยังได้ไปยังสถานเลี้ยงเด็กทารกที่ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ได้ให้กำเนิดในระหว่างที่กำลังต้องโทษอยู่ และในโอกาสนี้ยังได้มอบเงินจำนวน 20,325 บาท จากการขายขนมหารายได้ช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงที่เพลินวาน เมื่อครั้งเดินทางไปเก็บตัวยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ส่วนหนึ่งของสาวงามได้เผยความรู้สึกถึงการได้เข้ามายังทัณฑสถานหญิงกลางแห่งนี้ โดยหมายเลข 5 ใหม่ - นส.สุภา ศรีวนาภิรมย์ เผยว่า “เมื่อได้เข้าสัมผัสที่นี่ทำให้รู้ว่าบรรยากาศไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เหมือนที่เห็นในละคร ภาพยนตร์ ซึ่งการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในนี้ ใหม่มองว่าก็เหมือนสังคมของคนปกติทั่วไป เพียงแต่ถูกจัดให้อยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งเท่านั้นค่ะ” ส่วนหมายเลข 7 เธียร - นส.พัทธ์ธีรา เกษรสุรวงศ์ ที่เมื่อย่างก้าวเข้ามาหลังม่านเหล็ก ถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ ไม่อยู่ เผยว่า “ที่เธียรร้องไห้เพราะเธียรรู้สึกเห็นใจผู้ต้องขังหญิงแห่งนี้ค่ะ นึกถึงว่าถ้าเป็นญาติพี่น้องของเราเองถูกคุมขังแบบนี้ จะเป็นเช่นไร คนกระทั่งมีพี่ผู้คุมมาปลอบและบอกว่ามันเป็นสัจธรรม เมื่อกระทำผิดก็ต้องได้รับโทษทัณฑ์ แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับพี่ๆ ผู้ต้องขังหญิง และได้ฟังผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางเล่าว่าที่แห่งนี้เป็นอย่างไร มีการจัดสรรระบบดูแลอย่างไร ทำให้เธียรรู้สึกดีขึ้นค่ะ ซึ่งถ้ามีโอกาสเธียรอยากกลับมาให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจแก่พี่ๆ ผู้ต้องขังหญิงอีกครั้งค่ะ” ในขณะที่หมายเลข 18 ถุงแป้ง - นส.วรัญญา เพชรหมื่นไว เผยว่า “การกระทำความรุนแรงต่อสตรี เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันค่ะ ต้องทำให้สังคมตระหนักถึงว่าผู้หญิงคือเพศแม่ คือเพศที่ต้องให้เกียรติ ซึ่งพอได้ฟังวิทยากรพูดถึงการกระทำความรุนแรงต่อสตรีนั้น ทำให้รู้สึกตกใจและรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และตอนที่เดินทางมาถึงทัณฑสถานหญิงแห่งนี้ คิดมาตลอดทางว่าจะทำตัวอย่างไร เมื่อมาเจอผู้ต้องขังหญิง แต่เมื่อมาถึงทุกคนเป็นกันเอง น่ารัก และสถานที่ก็ไม่เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ รู้สึกได้ว่าที่แห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้คุมเอง หรือ ผู้ต้องขังเอง เหมือนอยู่กันด้วยความอบอุ่นค่ะ”
มาคอยเชียร์กันว่า 1 ในสาวงามคนใด ที่จะเป็นผู้คว้ามงกุฏเพชร เป็นนางสาวไทย 2553 ภายใต้แนวคิด “งามอย่างยั่งยืน” และมาร่วมส่งกำลังใจให้สาวงามที่ชื่นชอบ ด้วยการโหวตผ่าน SMS กับตำแหน่งขวัญใจมหาชน โดยการพิมพ์ M1 — M18 แล้วส่งไปที่ 4221229 (ครั้งละ 3 บาท) หรือตามติดความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดของสาวงามทั้ง 18 คน ได้หลังรายการเช้าดูวู้ดดี้ ออกอากาศตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จำนวน 10 ตอน ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี หรือสามารถอัพเดทผ่านช่องทรูวิชั่นส์ HD (D113) ช่องทรูเรียลลิตี้ (D60) และช่องทรูอินไซด์ (D61) จนถึงวันตัดสิน โดยจะออกอากาศในเวลา 17.00 น. และออกอากาศ ซ้ำอีกครั้งในเวลา 00.30 น. โดยรอบตัดสินกำหนดจัดขึ้น ในวันที่ 21 ตุลาคมศกนี้ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ หรือชมการถ่ายทอดทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เวลา 22.20 น. เป็นต้นไป และช่องทรูวิชั่นส์ HD (D113) ช่องทรูเรียลลิตี้ (D60) และช่องทรูอินไซด์ (D61) รวมทั้ง อาเซียนทีวี พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ ซึ่งออกอากาศทางไทยคม 5 สามารถรับชมได้ 126 ประเทศทั่วโลก ถ่ายทอดในเวลาเดียวกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร.0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ภัควลัญชญ์