ไทยโต้โผใหญ่จัดการประชุมสัมมนา “Latin Business Forum 2010” ครั้งแรกในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 19, 2010 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เอ็ม โอ ชิค อาเซียนสานสัมพันธ์การค้ากับกลุ่มลาตินอเมริกา ไทยโต้โผใหญ่จัดการประชุมสัมมนา “Latin Business Forum 2010” ครั้งแรกในประเทศไทย หวังช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพนักลงทุนไทยเพื่อบุกตลาดลาติน-อเมริกา สำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์ SEA-LAC Trade Center มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนา หัวข้อ “Latin Business Forum 2010” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวของผู้แทนระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในกลุ่มอาเซียนและลาติน-อเมริกา เพื่อให้ความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย อาเซียน และกลุ่มประเทศลาติน-อเมริกา โดยหวังว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาเป็น Annual Platform ต่อไป เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคลาตินอเมริกา ในฐานะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งทรัพยากร ตลาดการค้าการลงทุนแห่งใหม่ของไทย และเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้งมีส่วนช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลก การจัดงานครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ น. — ๑๘.๑๕ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เวลา ๐๙.๐๐น.-๐๙.๑๕ น. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยมีต่อภูมิภาคลาตินอเมริกา และความตั้งใจจริงในการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงลึกด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้ร่วมงานฯ ไว้ ๕ กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนจากภาคเอกชน ตัวแทนจากภาคการศึกษา ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ คือ ๑) เพื่อพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองภูมิภาคในภาครัฐ เอกชน และการศึกษา พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ๒) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ทางการค้าการลงทุน สำหรับการวางแผนงานและพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต ๓) เพื่อกระตุ้นความสนใจ ความรู้ ความเข้าใจทางทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า และความเป็นไปได้ในการทำการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน ๔) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในเปิดตลาด และกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมในการทำการค้าการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ ๕) เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปิดเสรีทางการค้าโลกในระดับภูมิภาคและระดับประเทศระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” การประชุมสัมมนาฯ จะแบ่งเป็น ๔ ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ ๑) ผู้นำทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากทั้งฝั่งลาตินอเมริกา และอาเซียน จะมาเปิดเผยถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค และแนวโน้มทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ส่วนที่ ๒) ผู้เชี่ยวชาญทางนโยบายการค้าเสรีจากทั้งอาเซียนและลาตินอเมริกา จะมาให้มุมมองถึงการปรับใช้ FTA กับการพัฒนากลยุทธ์การค้า พร้อมกับโอกาสและอุปสรรคที่สามารถเกิดขึ้นในการทำการค้าระหว่างสองภูมิภาค ส่วนที่ ๓) การให้ความรู้ศักยภาพทางการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม และส่วนที่ ๔) นักธุรกิจชั้นนำผู้ผ่านประสบการณ์ทางการค้าระหว่างสองภูมิภาคจะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการพัฒนาธุรกิจการศึกษา โดยจะเน้นถึงวิธีรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับการให้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่เหมาะสมของการเปิดตลาดในลาตินอเมริกา และ กลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อเพิ่มการขับเคลื่อนทางการค้า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดการสัมมนาครั้งนี้ คือ ๑) จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคนี้มากขึ้น บนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ๒) เกิดเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองภูมิภาค ๓)มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมและความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาระหว่างสองภูมิภาคมากขึ้น ๔) มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความเรู้ในด้านต่างๆ ระหว่างสองภูมิภาคมากขึ้นในทุกระดับได้แก่ ระดับรัฐ ระดับองค์กร ระดับธุรกิจ และ ระดับประชาชน หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา จำนวน ๗ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา เม็กซิโก ปานามา คิวบา บราซิล ชิลี และเปรู กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ASEAN Foundation และธนาคาร Inter-American Development Bank (IDB) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บริษัท Hunton&Williams ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ บริษัทเบทาโกร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทโอสถสภา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทแอร์โรคลาส จำกัด บริษัทง่วนสูน จำกัด บริษัทสแปน มารีน จำกัด บริษัท Kovic Kate (international) จำกัด และบริษัทไท้เฮง แมชชีนนารี จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ