กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--แอกเซส แอนด์ แอสโซซิเอทส์
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เพื่อสนองตอบความต้องการส่วนบุคคล และความต้องการของชาติในสาขาวิชาต่าง ๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บุกเบิกการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมที่จะรองรับการเจริญเติบโตของประเทศทางด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ใช้ชื่อว่า Assumption School of Business ( หรือ ASB) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดการศึกษาเพื่อ“ความเป็นเลิศและถึงพร้อมด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ” ตามหลักปรัชญาของสถาบันการศึกษาคาทอลิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” (Assumption Business Administration College) หรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อว่า ABAC และในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย และใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” (Assumption University) จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 40 ปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสากลแบบ 360 องศา ให้ก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก หรือ From International to Global University
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมี 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตหัวหมาก วิทยาเขตสุวรรณภูมิ และ ซิตี้แคมปัส (ABAC City Campus) วิทยาเขตหัวหมากเป็นวิทยาเขตแรก ก่อตั้งบนพื้นที่กว่า 17 ไร่ ในซอยรามคำแหง 24 มีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีทั้งหมด 10 คณะ (39 หลักสูตร) ปริญญาโท 9 คณะ (31 หลักสูตร) และปริญญาเอก 5 คณะ (11 หลักสูตร) สำหรับวิทยาเขตสุวรรณภูมิเป็นวิทยาเขตใหม่บนพื้นที่กว่า 360 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด กม. 26 มีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีทั้งหมด 3 คณะ และวิทยาเขตล่าสุด ABAC City Campus ตั้งอยู่ในอาคารห้างสรรพสินค้าเซน ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 14 เป็นวิทยาเขตที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์บริการการศึกษา ศูนย์สอนภาษา การฝึกอบรม การสัมมนาเพิ่มพูนความรู้ ทักษะทางธุรกิจการประกอบการ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ
40 ปี แห่งพัฒนาการแบบ360 องศา
ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ในการจัดการศึกษา เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา ความเป็นเลิศทางวิชาการระดับสากล และการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อยังประโยชน์นานัปประการแก่ประเทศชาติและสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงได้พยายามส่งเสริมการพัฒนารอบด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องกันมาตลอด 40 ปี
ความหลากหลายของหลักสูตร
มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้แขนงต่างๆ โดยได้ขยายหลักสูตรเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงคณะบริหารธุรกิจคณะเดียว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยดำเนินการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ เป็นจำนวนถึง 26 หลักสูตร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ จำนวน 25 หลักสูตร ซึ่งนับได้ว่ามีความหลากหลายของหลักสูตรทั้งทางด้านบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังจัดการศึกษาครอบคลุมในแขนงอื่นๆ ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ จิตวิทยาการให้คำปรึกษา ปรัชญา ศาสนา ศึกษาศาสตร์ และการจัดการการท่องเที่ยว เป็นต้น
หลักสูตรนานาชาติแห่งแรก
มหาวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการจัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่แรกเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2512 และพยายามแสวงหาช่องทางหรือวิธีการหลากหลายรูปแบบที่จะให้ความรู้ ทักษะและความสามารถแก่นักศึกษาตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน ใช้ระบบการเรียนการสอนและตำราเรียนที่เป็นมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินความตกลงร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับสถาบันการ ศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ จำนวนกว่า 55 แห่ง ใน 19 ประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด , ฮาร์วาร์ด , เอ็มไอที , เยล , คอร์แนล , เอ็กซ์เซเตอร์ เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อประมวลองค์ความรู้จากต่างประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายให้นักศึกษาจะได้มีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของความเป็นนานาชาติสากล เพิ่มโอกาสของนักศึกษาที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่จำเป็นต้องไปศึกษาในต่างประเทศ อันจะนำไปสู่ประโยชน์ทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ค่าเล่าเรียนเพื่อคนไทย
มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรของแต่ละคณะ/สาขาวิชา ต่ำกว่าหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ภายในประเทศอีกหลายมหาวิทยาลัย โดยที่ระดับปริญญาตรี หน่วยกิตละ 1,600 บาท ระดับปริญญาโท เริ่มต้นที่หน่วยกิตละ 2,000 บาท และระดับปริญญาเอก เริ่มต้นที่หน่วยกิตละ 2,500 บาท และยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามากหลายเท่าตัว ผู้ปกครองจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย แทนที่จะส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน นักศึกษาทั้งสิ้น ประมาณ 20,000 คน ทำให้สามารถประหยัดเงินค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเศรษฐกิจของประเทศชาติได้ โดยสามารถรักษาเงินตราไม่ให้รั่วไหลออกนอกประเทศได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย
เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเล่าเรียนต่อปีโดยประมาณ
ประเทศ ค่าหน่วยกิต ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
บาท US$ บาท US$
สหรัฐอเมริกา 600,000 15,000 560,000 14,000
อังกฤษ 480,000 12,000 520,000 13,000
ออสเตรเลีย 240,000 6,000 240,000 6,000
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 108,000 -164,000 2,700 — 4,100 120,000 3,000
มหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศ 140,000 -274,800 3,500 — 6,870 120,000 3,000
(หลักสูตรนานาชาติ)
การนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ
ในแต่ละภาคการศึกษา นักศึกษาชาวต่างชาติจำนวนมากกว่า 3,000 คน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ได้ให้ความเชื่อถือและยอมรับในมาตรฐานการจัดการศึกษา เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 300 - 400 ล้านบาท ทั้งส่วนที่เป็นค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนตัว นับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติในอีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากผู้ปกครอง ญาติมิตร และเพื่อนฝูงของนักศึกษาต่างชาติอีกหลายพันคนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปีอีกด้วย
บทบาทของศิษย์เก่า
ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคธุรกิจเป็นจำนวนหลายหมื่นคน จากการสำรวจพบว่ากว่า 60% ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาสามารถก่อตั้งบริษัท องค์กร และมีธุรกิจเป็นของตัวเอง (Entrepreneur) รวมทั้งได้เข้าอยู่ในองค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียงในฐานะบุคลากรมืออาชีพ ด้วยเหตุนี้เองทำให้มหาวิทยาลัยได้มีชื่อเสียงจนได้รับการกล่าวขานในฐานะ “ผู้บุกเบิกในการสร้างผู้ประกอบการแห่งอนาคต (Pioneers in Creating the Entrepreneurs of Tomorrow)” ซึ่งปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ได้เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นผู้บริหารระดับสูง มีบทบาทสำคัญๆ ในภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำ ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศ (GDP) อย่างสำคัญ
ABAC Poll และ ABAC Consumer Index
ชื่อเสียงด้านงานวิจัยที่ได้รับการยอบรับในระดับสากล
นับตั้งแต่การก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2512 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัย และได้ตั้งมั่นในปณิธาณที่จะสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้และเสริมสร้างองค์ความรู้ของศาสตร์และศิลป์ในบริบทของวิทยาการและสังคมปัจจุบัน มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ จึงก่อตั้งสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ขึ้นเพื่อดำเนินการวิจัย ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เป็นการสำรวจความคิดเห็น ทัศนคติ และพฤติกรรมของประชาชนด้านต่างๆ โดยที่ผ่านมาโครงการสำรวจวิจัยต่างๆ ได้รับการตอบสนองและเป็นที่ยอมรับอย่างดียิ่งในระดับสากลจากสถาบันสื่อสารมวลชน สำนักข่าวต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ และกลุ่มบริษัทเอกชนต่างๆ
และในโอกาสครบรอบ 40 ปีของมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำโครงการสำรวจข้อมูลดัชนีผู้บริโภค หรือ ABAC Consumer Index ขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนสังคม ในรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ โดยโครงการ ABAC Consumer Index ที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นการเก็บข้อมูลทั้งจากในประเทศ และจะมุ่งสู่การสร้างคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนผ่าน ASEAN Consumer Index ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลต่างๆที่ได้จากการสำรวจนี้จะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการร่างนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน โดยข้อมูลที่ทำการสำรวจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการอย่างเหมาะสมอีกด้วย
Dummy Company
มหาวิทยาลัยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งบริษัทธุรกิจจำลอง (Dummy Company) เพื่อบ่มเพาะความคิดเชิงธุรกิจสำหรับนักศึกษา โดยจะให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานภาคสนามจริงในช่วงปิดภาคฤดูร้อน มีการจัดระบบบริหารทางด้านองค์กร การตลาด การขาย และมีเป้าหมายเหมือนการประกอบธุรกิจเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้นักศึกษาพร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา โครงการ Dummy Company ของ ABAC ถือเป็น Role Model ที่โดดเด่นจนปัจจุบันบริษัทเอกชนชั้นนำต่างๆ ให้การยอมรับ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ยึดถือเป็นต้นแบบในการผลิตบัณฑิตแบบเดียวกัน
จาก วนอุทยานแห่งการศึกษา สู่ จุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับระบบการจัดสภาพแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยต่อการศึกษา จะเห็นได้จากวิทยาเขตสุวรรณภูมิไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบการก่อสร้างและตกแต่งอาคารสถานที่สำหรับการเรียนการสอน การจัดการระบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยได้ลงทุนไปกว่า 6,000 ล้านบาทในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างอิตาลีในยุคเรเนซองค์และสถาปัตยกรรมไทย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่เน้นเฉพาะหลักสูตรการศึกษา คณาจารย์ แต่ยังให้ความสำคัญกับสถานที่เรียน หอพัก และสิ่งแวดล้อมอย่างโอ่อ่า ภูมิฐาน เพื่อการเชิดหน้าชูตาเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของประเทศอีกแห่งหนึ่ง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มักมีชาวต่างชาติแวะเวียนมาชม ซึ่งสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของผู้ปกครองชาวต่างประเทศในการตัดสินใจส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งถือเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง
ความเป็นสังคมนานาชาติ
เนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 3,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด รวมทั้งมีจำนวนคณาจารย์ชาวต่างชาติกว่า 40 ประเทศ จำนวน 389 คน จากอาจารย์ทั้งหมดจำนวน 1,229 คน โดยแยกตามระดับวุฒิการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี 70 คน ปริญญาโท 196 คน และระดับปริญญาเอก 123 คน ทำให้สังคมของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีความเป็นสังคมนานาชาติที่แท้จริง การศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมในระดับนานาชาติจากเพื่อนนักศึกษาจากประเทศต่างๆ และฝึกทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศจากเจ้าของภาษาโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการของประเทศในอนาคต
ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมุ่งมั่น คิดค้น และพัฒนาหลักสูตร และสื่อการสอนใหม่ๆ ทำให้นักศึกษามีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนเองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย จนอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
การเป็นที่ยอมรับขององค์กรและสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
- The U.S. Veterans Administration, Washington D.C.ให้การรับรองมหาวิทยาลัย
อัสสัมชัญเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
- มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลคุณภาพ “Prime Minister’s Export Award”
ด้านผู้ให้บริการด้านการศึกษาดีเด่น อย่างต่อเนื่อง
- มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันจำนวน 30 สถาบันใน 12 ประเทศ
- นักศึกษาสามารถเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยใน ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐ
อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่น ๆ ในภาคพื้นยุโรป
- บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สามารถเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสถาบันการศึกษา
ชั้นนำของโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัย Harvard สถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT), มหาวิทยาลัย
Cornell, Columbia เป็นต้น
- บัณฑิตและศิษย์เก่าสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน และประสบความสำเร็จในองค์กรหรือบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
- เป็นเจ้าของสถาบันวิจัย ABAC POLL ที่ได้รับความเชื่อถือทั้งจากหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชน
- เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมอินเตอร์เน็ตโลก (The Internet Society)
- ได้รับเกียรติให้เป็นที่ตั้งของ Sunsite Thailand เป็นสาขาที่ 9 ของโลก และเป็นสาขาที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
- เป็นผู้แทนของ Cisco Networking Academy แห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพัฒนาการแบบ360องศา ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นสถาบันการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศชาติและสังคมไทยต่อไปอย่างยั่งยืน