กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สกว.
ชี้ “มนต์เสน่ห์ ตลาดน้ำ” จะอยู่ได้ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดการพึ่งพาจากภายนอก เน้นนำเสนอมิติทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่มากกว่าการขายของเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญไม่ควรเลียนแบบกัน เชื่อหากทำได้ จะช่วยให้การท่องเที่ยวตลาดน้ำไทยยั่งยืน
การท่องเที่ยวตลาดน้ำเป็นรูปแบบแรกๆของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ ด้วยเสน่ห์ของการท่องเที่ยวตลาดน้ำที่เกิดจากความประทับใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนชาวสวน จากการค้าขายผลผลิตทางเกษตรทางน้ำของชาวบ้านที่หาดูได้ยากในประเทศของตน
โครงการพัฒนาการและผลกระทบของการท่องเที่ยว กรณีศึกษาชุมชนตลาดน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จึงเกิดขึ้น โดยมี ผศ.ดร.มณีวรรณ ผิวนิ่ม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการและได้ใช้กรณีศึกษาตลาดน้ำอันได้แก่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และตลาดน้ำตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.มณีวรรณ กล่าวว่า แนวทางการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นที่เหมาะสมเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยั่งยืนจะศึกษารูปแบบและพัฒนาการของตลาดน้ำและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องในตลาดน้ำทั้งสองแห่งและผลกระทบต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมของท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในชุมชนตลาดน้ำแต่ละแห่ง เพื่อให้ทราบความต้องการของชาวบ้านในท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและหารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในรูปแบบตลาดน้ำที่เหมาะสม
การพัฒนาและกิจกรรมการท่องเที่ยวของตลาดน้ำทั้งสองแห่งได้แก่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เป็นตลาดน้ำแบบดั้งเดิม พัฒนาจากตลาดชาวบ้านขึ้นมาเป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวเนื่องจากการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปพบเห็นและเกิดความประทับใจจนหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายกลายเป็นที่รู้จัก ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นนายทุนจากภายนอกเข้าไปจัดรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและร้านขายของที่ระลึกครบวงจร ขณะที่ชาวบ้านมีบทบาทเป็นลูกจ้างและขอเช่าที่จอดเรือขายของมากกว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ
ตลาดน้ำตลิ่งชัน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชนและภาครัฐ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่มีความเหมาะสมกับการจัดทำตลาดน้ำจึงชักชวนบุคคลในพื้นที่ก่อตั้งตลาดน้ำขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้นและจัดให้มีการตั้งกลุ่มคนขึ้นมาดูแลตลาดน้ำตลิ่งชันโดยตรงเรียกว่า “ประชาคมตลาดน้ำ” มีคณะกรรมการและประธานประชาคมเป็นคนดูแลและจัดการเกี่ยวกับตลาดน้ำตลิ่งชันทั้งหมด อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างสม่ำเสมอเพราะอยู่ใกล้เมืองบรรยากาศดีเป็นทั้งที่พักผ่อนและรับประทานอาหารไปพร้อมกัน
สำหรับปัญหาในการจัดการท่องเที่ยวแบบตลาดน้ำนั้นพอจะสรุปได้ดังนี้ ปัญหาในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ขาดการวางแผนในระดับชุมชน ขาดผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องมีการบริหารผูกขาดโดยเอกชนทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือขาดความพร้อมด้านงบประมาณเวลาและความรู้เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ต้องหวังพึ่งและรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ
ปัญหาภาพลักษณ์และรูปแบบของตลาดน้ำแบบเดิมที่หมดไปแล้ว แต่ผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังพยายามคงภาพลัษณ์เดิมไว้เพื่อประโยชน์ทางการค้า ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสงสัยบางคนมองว่าเป็นการหลอกลวง ซึ่งต้องหาภาพลักษณ์ใหม่ที่ตรงกับความเป็นจริงและนำมาเป็นจุดขายนักท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไม่เพียงพอได้แก่ การรักษาความสะอาด อย่างห้องน้ำหรือข้อมูลการท่องเที่ยวเป็นแผ่นพับภาษาต่างๆ
งานวิจัยนี้ยังได้นำเสนอนโยบายในการพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำ อาทิ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผน บริหารและจัดการการท่องเที่ยวทุกขั้นตอนและทุกกลุ่ม เนื่องจากชุมชนย่อมเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของตนได้ดีกว่าคนนอก จะทำให้มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวได้มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ประกอบการธุรกิจจากภายนอกและช่วยลดปัญหาการเอาเปรียบในชุมชน ลดการผูกขาดกิจกรรมด้านการค้าและการท่องเที่ยว หรือกรณีชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอควรขอความช่วยเหลือจากภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานหรืองบประมาณ ส่วนเอกชนและนักวิชาการอาจขอความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมดูงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับชุมชนนั้นๆ
ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจแท้จริงของการท่องเที่ยวที่มุ่งประโยชน์ระยะยาว เน้นการสร้างความเข้มแข็งดูแลตนเองได้ โดยชุมชนไม่พึ่งพาภายนอกสร้างงานให้คนในท้องถิ่น เช่น ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองหรือจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆที่คนในชุมชนดูแลได้ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร หรือกิจกรรมวันพิเศษในวันสำคัญต่างๆโดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม นอกจากนี้ตลาดน้ำในปัจจุบันยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความต้องการของคนในสังคมปัจจุบันที่ผูกพันกับการคมนาคมทางบก แต่ยังโหยหาวิถีชีวิตริมน้ำแบบสมัยก่อนจึงควรจะพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวแบบตลาดน้ำในปัจจุบันให้เป็นการนำเสนอมิติทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตริมคลองมากกว่าจะเน้นด้านการขายของอย่างเดียว
ดังนั้นแต่ละชุมชนที่จัดการท่องเที่ยวแบบตลาดน้ำควรหารูปแบบกิจกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตในชุมชนของตนมากกว่าจะเลียนแบบกิจกรรมให้เหมือนกันไปหมด ควรมีการตั้งเครือข่ายชุมชนที่มีการท่องเที่ยวแบบตลาดน้ำเพื่อแลกเปลี่ยน ข่าวสาร ข้อคิดเห็น ตลอดจนเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา รูปแบบการจัดการและกิจกรรมที่ได้ผลซึ่งกันและกัน อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวให้ชุมชน นำมาสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)โทร.02-270-1350-4 E-mail:pr@pr-trf.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net