ผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3/2553 TMB สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 09:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ธนาคารทหารไทย - กำไรสุทธิจากธุรกิจหลัก เพิ่มขึ้น - สัดส่วน NPL ลดลงเหลือ 9.5% - นโยบาย “ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” เริ่มส่งผลที่ดีต่อลูกค้า TMB ประกาศผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทในเครือด้วยผลกำไรสุทธิ 777 ล้านบาท สำหรับงวดไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2553 สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการตามกลยุทธ์ในการสร้างให้ TMB เป็นธนาคารไทยชั้นนำ มาตรฐานระดับโลก ทั้งนี้ TMB กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงตามแผนกลยุทธ์ 3 เฟส ซึ่งประกอบด้วย การวางรากฐานความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคาร, การเติบโตอย่างมีคุณภาพ และ การเป็นผู้นำในตลาด โดยได้ผ่านเฟสของการวางรากฐานความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคารในปี 2551-2552 และในปี 2553 นี้ ธนาคารกำลังดำเนินกลยุทธ์ในเฟสของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการสร้างฐานลูกค้าและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลักในการให้สินเชื่อและรับเงินฝาก กำไรสุทธิ 777 ล้านบาท สำหรับไตรมาสที่ 3/2553 นี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2552 สะท้อนให้เห็นถึงผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจหลัก (core business operation) ที่ดีขึ้นของธนาคาร เมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสที่ 3/2552 และไตรมาสที่ 2/2553 นับเป็นการตอกย้ำถึงประสิทธิภาพของการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ในเฟสของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 135 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2552 และมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.39 จากร้อยละ 2.25 ในไตรมาสที่ 2/2553 และร้อยละ 2.32 ในไตรมาสที่ 3/2552 ขณะเดียวกัน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยหลัก ซึ่งได้แก่ รายได้จากค่าธรรมเนียม และรายได้จากธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2553 และ ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2552 สินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 3 ของธนาคาร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยสินเชื่อคุณภาพ (Performing Loans) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 6,000 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 3.6 และของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2553 ในไตรมาสที่ 3/2553 สินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพ ลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2553 หรือจาก 2,619 ล้านบาท เป็น 38,691 ล้านบาท และสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ลดลงเหลือร้อยละ 9.5 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคาร ในขณะที่สินทรัพย์รอการขายลดลงประมาณ 1,200 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 13 เป็น 7,000 ล้านบาท เงินฝากของธนาคารและบริษัทย่อย เติบโตขึ้น 12,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2/2553 โดยเป็นผลสืบเนื่องจากแคมเปญบัญชีเงินฝากประจำถอนก่อน ดอกเบี้ยไม่ลด “ทีเอ็มบี อัพแอนด์อัพ” และบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยด่วน รับดอกเบี้ยภายใน 7 วัน “ทีเอ็มบี ควิกอินเทอเรสต์” ตามแผนกลยุทธ์ของธนาคารในการมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าสำหรับลูกค้าตามนโยบายยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในไตรมาสที่ 3/2553 ธนาคารมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดยมีเงินกู้ระหว่างธนาคารและเงินลงทุนระยะสั้นรวมร้อยละ 24 ของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio — LDR) ที่ร้อยละ 87 และหากรวมเงินกู้ยืมระยะสั้น LDR จะอยู่ที่ร้อยละ 84 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ดี ทั้งนี้ ธนาคารมีความแข็งแกร่งของเงินกองทุนโดยมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio — CAR) ที่ ร้อยละ 17.8 และ สัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ร้อยละ 12.3 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ ร้อยละ 8.5 สำหรับ CAR และ ร้อยละ 4.25 สำหรับกองทุนขั้นที่ 1 นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของ TMB เป็นผลดีที่เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและแผน กลยุทธ์ของธนาคารในการก้าวขึ้นเป็นธนาคารไทยชั้นนำมาตรฐานระดับโลก เราได้ประสบความสำเร็จในการสร้างรากฐานของการเป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และในขณะเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ธนาคารคิดค้นขึ้นสำหรับลูกค้ากำลังก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้ามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 และในอีกสองสามปีข้างหน้านี้ TMB จะมุ่งเน้นในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของทั้งลูกค้าบุคคล ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ เอสเอ็มอี ให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจและบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการ ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความโดดเด่นและแตกต่างจากตลาดให้แก่ TMB แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นการเติมเต็มช่องว่างของบริการทางการเงินและการธนาคาร ที่ลูกค้าต้องการและแสวงหามาโดยตลอด แต่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ