เชฟรอนมุ่งลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ทุ่มงบกว่า 80 ล้านบาท พัฒนาอาจารย์-นักศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก้าวไกลระดับโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ในภาวะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนเงินมหาศาลในแต่ละปี การพยายามแก้ปัญหาเพื่ออุดรอยรั่วดังกล่าวนี้จึงเกิดขึ้น ทั้งการนำเข้าพลังงานและทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกลับประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทั้งด้านจำนวนอาจารย์ และนักศึกษาในด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมอย่างรุนแรง รวมไปถึงขาดแคลนงานวิจัยเพื่อใช้พัฒนาวงการปิโตรเลียมในประเทศอีกด้วย เชฟรอนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความเข้าใจ ในการจัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ซึ่งในการดำเนินโครงการครั้งนี้ เชฟรอนได้สนับสนุนด้านงบประมาณในวงเงิน 82.5 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553-พฤษภาคม 2557 รวมระยะเวลา 4 ปี นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อดีตบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศกรรมปิโตรเลียมรุ่นแรก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ในท้องตลาดมีความต้องการบุคลากรด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ซึ่งต้องใช้บุคลากรด้านดังกล่าวเป็นจำนวนมาก “เรามีความกังวลว่า ปัจจุบันคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีจำนวนไม่เพียงพอ ทั้งตอนนี้ยังเริ่มเกษียณอายุลง การสร้างนิสิตเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ช่วย เราจึงต้องมองให้ครบทั้งวงจรว่าพัฒนานิสิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาทั้งอาจารย์และอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งห้องปฏิบัติการต่างๆ ก็เก่าไปตามกาลเวลา และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาก็มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาห้องแลปต่างๆ ด้วย และถ้าอาจารย์มีความแข็งแรงเพียงพอก็จะช่วยให้ อาจารย์ไม่ต้องสอนเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเวลามากพอไปทำวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองและของประเทศด้วย” โครงการความร่วมมือดังกล่าว ประกอบไปด้วยการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร การให้ทุนอาจารย์ในการศึกษาระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ และการให้ทุนนิสิตปริญญาตรีที่สนใจเป็นอาจารย์ในอนาคตในเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก เพื่อรองรับการขาดแคลนบุคลากรในภาควิชาระยะยาว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงานวิจัยให้คณาจารย์ในภาควิชา การจัดหาบุคลากรผู้สอนจากต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในแง่วิชาการ รวมไปถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีทางการศึกษาต่างๆ ด้วย เชฟรอนเริ่มให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ปี 2546 ในสาขาปิโตรเลียมและธรณีวิทยา ปีละ 50 ทุน แก่นักศึกษาปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัย 6 แห่งทั่วประเทศ โดยนิสิตที่จบไปจะได้งานเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ ปตท.สผ.หรือเชฟรอน หรือบริษัทที่ให้การบริการในเรื่องการสนับสนุนการขุดเจาะหลายบริษัททั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ เชฟรอนเน้นการพัฒนาสังคมไปในด้านต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์ 4 “E” คือ การศึกษา หรือ Education สิ่งแวดล้อม หรือ Environment การอนุรักษ์พลังงาน หรือ Energy Conservation และการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Employee Engagement “เรื่องคนเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านปิโตรเลียมในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานของประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อทำงานพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จากการนำเข้าพลังงานและบุคลากรจากภายนอกประเทศได้” นายไพโรจน์ กล่าว ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเชพรอนได้ให้การพัฒนาทั้งนิสิตและอาจารย์ควบคู่กัน โดยในด้านอาจารย์นั้นเราพบว่าปัจจุบันมีอาจารย์ในด้านสาขาวิชานี้น้อยมาก มีเพียง 5 ท่าน เท่านั้น “จำนวนอาจารย์มีน้อย เพราะคนที่มาเป็นอาจารย์ต้องมีการเสียสละมาก เพราะการเลือกทำงานภาคราชการและภาคบริษัทเอกชน เงินเดือนมีความแตกต่างกันมาก ประมาณ 10 เท่าขึ้นไป ดังนั้น แทนที่จะทำอะไรอย่างอื่นจึงต้องเริ่มพัฒนาอาจารย์ก่อน” อธิการบดี จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าว ทั้งนี้ การคัดเลือก เราคัดจากนิสิตที่มีความประสงค์ที่เป็นอาจารย์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ต้องรักความเป็นอาจารย์และต้องการเสียสละเพื่อสังคม ส่งไปศึกษาต่างประเทศ ระหว่างนี้เราเอาอาจารย์ต่างประเทศมาสอนเสริมในบางจุด เพื่อให้อาจารย์ได้มีโอกาสทำวิจัยใหม่ๆ ด้วย ช่วยในการผลิตบุคลากรในด้านนี้ออกมาตามปริมาณความต้องการของสังคม และช่วยลดการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ ช่วยลดการรั่วไหลเงินตราไปต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ถ้ามองในอนาคตแล้วนี่คือตัวอย่างที่ดีให้ภาคเอกชนอื่นๆ ถ้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจะยิ่งช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนาบุคลากรไปด้วยกัน แทนที่จะต่างคนต่างเดิน มหาวิทยาลัยเองมีหน้าที่ผลิตบุคลากรในการทำงานตามบริษัทห้างร้านต่างๆ อยู่แล้ว เป็นการตอบโจทย์ร่วมกันดีกว่าต่างคนต่างเดิน นำไปสู่การพัฒนาด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมอย่างยั่งยืนในอนาคต ด้านอาจารย์ธนพงศ์ บุญแต่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 24 ปี เล่าว่า ตนจบจากภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม ที่จุฬาฯ แล้วไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาเดียวกัน และกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ โดยมีแรงจูงใจเรื่องการวิจัยทางวิชาการ และการมาเป็นอาจารย์มีข้อดีก็คือการที่จะได้ทบทวนความรู้ตัวเอง ที่สำคัญคือได้ถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นด้วย “เมื่อเปรียบเทียบการเป็นอาจารย์กับนักวิชาการภาคสนาม มองว่ามีข้อดีข้อเสียกันคนละแบบ มาทำงานในบริษัทอุตสาหกรรม เราก็จะได้ความรู้ในอีกลักษณะหนึ่ง แต่การมาเป็นอาจารย์ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง มันบอกไมได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี” สำหรับในด้านการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยนั้น อาจารย์ธนพงศ์กล่าวว่า โครงการของ chevron นี้ จะสามารถช่วยพัฒนาวงการปิโตรเลียมในประเทศไทยได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงานวิจัยของอาจารย์ ที่ในอดีตต้องต่างคนต่างทำ แต่นี่เรามีเป็นรูปเป็นร่างจากบริษัท อาจจะมีงานวิจัยที่เสนอมามากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้อาจารย์แต่ละคนมีส่วนร่วมทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมคนที่อยากทำงานด้านการศึกษาหรือด้านการวิจัย วิชาการ มีอาชีพตรงนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีนักวิจัยทางด้านปิโตรเลียมจริงๆ น้อยมาก ซึ่งถ้าทำเต็มรูปแบบครบวงจรก็สามารถช่วยผลักดันพัฒนาประเทศได้ ดร. ทรงภพ พลจันทร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิง ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความเข้าใจ ในการจัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม แสดงความคิดว่า ปัจจุบันการลงทุนเกี่ยวกับปิโตรเลียมสูงมาก ในอนาคตรัฐบาลต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ จึงต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ โดยสิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดคือบุคลากร และอาจารย์มีน้อยมาก ซึ่งในขณะนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันหลักที่ผลิตบุคคลการเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม “ผมมีความรู้สึกว่าคนที่เป็นอาจารย์จะต้องทุ่มเทเสียสละเป็นอย่างสูงเมื่อบริษัท เชฟรอน ให้การสนับสนุนจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เนื่องจากหากไม่ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจต้องนำเข้านักวิชาการจากต่างประเทศ เมื่อทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมมือกันก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ดร.ทรงภพ กล่าว สำหรับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านความปลอดภัย และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับาตรฐานสากล ปัจจุบันเชฟรอนมีแท่นผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 200 แท่นในอ่าวไทย ผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลวและก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศได้ถึงหนึ่งในสาม บริษัทเชฟรอน ยังมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกับทำงานร่วมกับชุมชนและสังคม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษา สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานเป็นสำคัญ ท่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเชฟรอนเพิ่มเติมได้ที่ www.chevron.com หรือ www.chevronthailand.com บรรยายภาพ 1. นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด 2. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. อาจารย์ธนพงศ์ บุญแต่ง อาจารย์หนุ่มไฟแรง ที่อายุน้อยที่สุด อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. ดร. ทรงภพ พลจันทร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ: ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร วิริยาภรณ์ ตันตินิพันธุ์กุล หรือ ภรณี กองอมรภิญโญ โทร 0-2545-6409 / 5714 อีเมล์: WNTA@chevron.com หรือ poraneek@chevron.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ