กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 3/2553 พุ่ง 21% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียมีการเติบโตโดดเด่นสูงกว่ามาตรฐานโดยรวม
ผลสำรวจระบุว่า นักลงทุนไทยมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม แม้ว่าการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัว และภัยคุกคามจากสงครามค่าเงิน
ประเด็นสำคัญจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 3/2553 เพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ 154 จากเดิมที่ระดับ 127 ในไตรมาส 2/2553 ซึ่งยังคงอยู่ในแดนบวก โดยเพิ่มขึ้น 161% จาก 59 ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน
ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชียเพิ่มขึ้น 7% จาก 136 ในไตรมาส 2/2553 มาอยู่ที่ 146
ในไตรมาส 3/2553 โดยอยู่ในระดับสูงขึ้นในแดนบวก และเพิ่มขึ้น 100% จาก 73 ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน
ความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยส่งสัญญาณอยู่ในแดนบวกต่อไปอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/2553
นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มั่นใจว่า ตลาดเอเชียจะมีการเติบโตที่สวนทิศทางกับตลาดโลก
โดยความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเอเชียอยู่ในแดนบวก ขณะเดียวกันนักลงทุนเอเชียยังคงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ในไตรมาส 3/2553 นักลงทุนเอเชียจำนวน 36% คาดการณ์ว่า เงินเหรียญสหรัฐจะยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ซึ่วจำนวนนักลงทุนที่เชื่อเช่นนี้เพิ่มขึ้น จาก 21% ในไตรมาส 2/2553
การยอมรับความเสี่ยงมีมากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2553 และนักลงทุนชาวไทยยอมรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้น
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินชั้นนำของโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของ
นักลงทุนในประเทศไทยยังคงอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 โดยดีดตัวพุ่งขึ้น 21% มาอยู่ที่ 154 ในไตรมาส 3/2553 จาก 127 ในไตรมาส 2/2553 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่นักลงทุนไทยยังคงมีความมั่นใจในการเติบโต
ของเศรษฐกิจโดยรวม แม้ว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและการคุกคามจากสงครามค่าเงินโลก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ146 ในไตรมาส 3/2553
จาก 136 ในไตรมาส 2/2553 สูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับ 73 ในไตรมาส 4/2551
ถึง 100% และยังคงอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6
ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในเอเชียได้รับอิทธิพลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในจีน ฮ่องกง และไทย
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศฮ่องกง จีน และไทยในไตรมาส 3/2553 จัดอยู่ในกลุ่มที่มีการเติบโตระดับไตรมาสสูงสุด
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 22% ซึ่งสูงสุด โดยอยู่ที่ 151 ในไตรมาส 3/2553 จาก 124 ในไตรมาส
ก่อนหน้า แซงหน้าดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวจีนที่อยู่ในระดับที่ 143 ในไตรมาส 3/2553 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่
ไตรมาส 2/2551 สำหรับประเทศไทย ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทยเพิ่มขึ้น 21% สูงสุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ดูข้อมูลในตารางแนบท้าย)
มร. ปราเน คุปตา ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ไอเอ็นจี อินเวสท์เมนท์ แมเนจเมนท์ เอเชีย/แปซิฟิก กล่าวว่า “ข้อมูล ของสหรัฐอเมริกายังคงบ่งชี้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การคาดการณ์ ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้มาตรการเสริมสภาพคล่อง (Quantitative Easing) เป็นแรงกดดันให้ค่าเงินของประเทศผู้ส่งออก ในภูมิภาคเอเชียแข็งขึ้น ทำให้ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคดังกล่าวออกมาตรการจัดการวิกฤติค่าเงินแข็งอย่างเต็มที่ เพื่อรักษา อัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ และขับเคลื่อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียให้อยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ กระแสเงิน ที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่างต่อเนื่องมาจากนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาค ดังกล่าวมีการเติบโตอย่างโดดเด่น และทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น”
“ในประเทศจีนและฮ่องกง ความวิตกกังวลที่ลดลงของนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดเกินไป เสริมด้วย การผ่อนคลายของมาตรการเปิดรับเงินฝากในสกุลเงินเรนมินบิในฮ่องกง เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดีดตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้” นายคุปตา กล่าวเสริม
นักลงทุนชาวเอเชียเชื่อมั่นว่า ภาวะการถดถอยรอบสอง (double — dip recession) จะไม่เกิดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมี การเติบโตแบบสวนกระแสตลาดโลก นักลงทุนชาวเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีทัศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศตนในเชิงบวก แต่ยังคงให้ความระมัดระวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนจำนวนมากขึ้น คาดการณ์ว่า ค่าเงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลง
เศรษฐกิจของแต่ละประเทศฟื้นตัวขึ้น ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 63% 59%
ไทย 74% 45%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 56% 51%
อินเดีย 88% 89%
จีน 62% 59%
ฮ่องกง 74% 52%
(% ของนักลงทุน)
เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสหน้า ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 68% 68%
ไทย 69% 58%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 72% 70%
เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสหน้า ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
อินเดีย 87% 89%
จีน 62% 60%
ฮ่องกง 69% 60%
(% ของนักลงทุน)
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสหน้า ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 51% 51%
ไทย 56% 53%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 53% 50%
อินเดีย 67% 71%
จีน 50% 50%
ฮ่องกง 48% 45%
(% ของนักลงทุน)
ค่าเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาจะอ่อนค่าลง ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในไตรมาสหน้า
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 36% 21%
ไทย 38% 21%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 35% 25%
อินเดีย 23% 19%
จีน 39% 27%
ฮ่องกง 39% 17%
(% ของนักลงทุน)
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในด้านต่างๆ ดังนี้
ทัศนะของนักลงทุนตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
สภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยฟื้นตัวขึ้น 74% 45%
ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 67% 48%
สถานภาพการเงินส่วนบุคคลดีขึ้น 66% 47%
สถานภาพการเงินในครัวเรือนดีขึ้น 63% 42%
(% ของนักลงทุนไทย)
ทัศนะของนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
สภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยจะฟื้นตัวขึ้น 69% 58%
ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้น 74% 62%
สถานภาพการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้น 70% 58%
สถานภาพการเงินในครัวเรือนจะดีขึ้น 72% 61%
(% ของนักลงทุนไทย)
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทยในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนไทยยังคงมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของภาคการส่งออก การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และวิกฤติการเมืองที่คลี่คลาย ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3/2553”
มร. แมทธิว วิลเลียมส์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จีดีพีไทยที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2553 รวมถึงคาดการณ์จีดีพีทั้งปีที่ปรับสูงขึ้นถึง 7.5%
เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงไทย นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่พุ่งขึ้น 22% ในไตรมาส 3/2553 เป็นสิ่งที่แสดง
ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างความแข็งแกร่งของตลาดหุ้นไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย ดังนั้น ไอเอ็นจี
จึงคาดการณ์ว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับผลประกอบการอันโดดเด่นของตลาดหลักทรัพย์”
ผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
นักลงทุนชาวไทย 54% เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีผลกระทบเชิงบวกต่อการตัดสินลงทุนในไตรมาส 3/2553 ขณะที่นักลงทุนไทย 51% มั่นใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีผลกระทบเชิงบวกต่อการตัดสินลงทุนในไตรมาส 4/2553
นายต่อยังได้กล่าวถึงผลกระทบของตลาดตะวันตกที่มีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทยว่า “ตลาดสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนไทย โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยที่มีต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วโลกจะได้รับอิทธิพลจากทิศทางการเติบโตของตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ไอเอ็นจีจึงยังคงมั่นใจว่า สภาวะถดถอยรอบสองของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาวะการเงินในทั้ง 2 ภูมิภาคดังกล่าวยังคงมีลักษณะผ่อนคลาย และภาคธุรกิจมีการฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาระดับโครงสร้างในประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ต่างๆ จะเป็นอุปสรรคอย่างรุนแรงในบางครั้ง และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมไอเอ็นจีจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดเกิดใหม่มากกว่า”
มร. วิลเลียมส์กล่าวเสริมว่า “สำหรับนักลงทุนไทยจะมุ่งให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสม และสินทรัพย์
ที่มีศักยภาพการเติบโตทางด้านเงินทุนอย่างอิสระและมีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งไอเอ็นจีมีความเห็นว่า ตราสารหนี้และหุ้นในตลาดเกิดใหม่เป็นช่องทางการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนในปัจจุบัน”
มุมมองที่แข็งแกร่งของนักลงทุนและความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่มากขึ้น เป็นสัญญาบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดการเงินในเอเชีย นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีผลตอบแทนการลงทุนในไตรมาส 3/2553 เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 2/2553 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส2/2553
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 61% 48%
ไทย 67% 48%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 59% 51%
อินเดีย 85% 69%
จีน 54% 38%
ฮ่องกง 70% 38%
(% ของนักลงทุน)
ทัศนะที่มีต่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ไตรมาส 3/2553 ไตรมาส 2/2553
เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 52% 45%
ไทย 64% 52%
ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 54% 50%
อินเดีย 76% 68%
จีน 50% 38%
ฮ่องกง 50% 35%
(% ของนักลงทุน)
มร. คุปตา กล่าวว่า “นักลงทุนจำเป็นต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกในอีก 6 — 12 เดือนข้างหน้าอย่างรอบคอบ
หากดัชนีผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกายังไม่มีการฟื้นตัว ราคาสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องใช้มาตรการเสริมสภาพคล่อง (Quantitative Easing) ในรูปของการประกาศใช้นโยบายการเงินแบบ ผ่อนคลาย ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาจะเป็นแรงกดดันให้ค่าของเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแข็งขึ้น และอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลง ตลาดการเงินจะมีสภาวะถดถอย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะลดลง สำหรับความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความไร้เสถียรภาพของค่าเงินยูโรที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป (PIIGS crisis) จะยังคงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์”
แม้ว่านักลงทุนไทยจะมีความเชื่อมั่น แต่ยังไม่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สำหรับในไตรมาส 4/2553 นักลงทุนชาวไทย 70% เชื่อว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.6% ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่น ที่ดีของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะการลงทุนในไตรมาส 3/2533 พบว่า นักลงทุนยังคงเลือกรูปแบบการลงทุนที่ปลอดภัย โดยการลงทุนในทองคำ (66%) เงินสด / เงินฝาก (59%) เป็นรูปแบบการลงทุน ที่ได้รับความนิยมมากกว่าการลงทุนในหุ้น (32%)
นอกจากนี้ นักลงทุนไทย (96%) คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 4% และผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังโดยเฉลี่ยสำหรับนักลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ 11.35%
ทั้งนี้ นายต่อได้ให้ข้อคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “ปัจจุบัน นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนล่าสุดในระดับที่สูง จึงอาจทำให้มีความคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ความคาดหวังของ นักลงทุนไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมการลงทุน ดังจะเห็นได้จากการเลือกรูปแบบการลงทุนที่มุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับการถือครองเงินสดและเงินฝากมากกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ”
“นักลงทุนชาวไทยจากหลากหลายกลุ่มรายได้และสินทรัพย์ยังคงเน้นการลงทุนเชิงอนุรักษ์นิยม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่ได้ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองเท่าที่ควร นักลงทุนชาวไทยกลัวการขาดทุน และคำนึงถึงความเสี่ยงจากการสูญเสีย เงินลงทุนมากกว่าโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโต ดังนั้นจึงให้น้ำหนักกับการลงทุนในรูปแบบของเงินสดและเงินฝากในระดับสูง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเขาไม่ได้จัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเติบโต อย่างพอเพียง ทำให้มีเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณอย่างไม่พอเพียง ในกรณีดังกล่าว ผู้ให้บริการทางการเงินจึงจำเป็นต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงของการลงทุน แต่ละประเภทและสามารถสร้างความมั่งคั่งเพื่อรองรับช่วงเวลาเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ” มร. วิลเลียมส์ กล่าวปิดท้าย
สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป และผลสำรวจล่าสุดได้ที่
http://www.ing.asia/investor_dashboard
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด
การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) ได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 2 ปี จัดทำขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนเป็นรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และนับเป็น
การสำรวจรายไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย
(ไม่รวมญี่ปุ่น) ทั้งยังเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุนในแต่ละประเทศ และยังมีการจัดทำดัชนี
ความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชียโดยคิดค่าเฉลี่ยจากทุกประเทศข้างต้น ยกเว้นญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
เพื่อใช้อ้างอิงเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศ
สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 3/2553 ได้ดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2553 โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนจำนวน 3,755 คน จาก 12 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มตัวอย่างมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีสินทรัพย์สุทธิ
หรือเงินลงทุนรวมอย่างน้อย 100,000 เหรียญสหรัฐ ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวมตั้งแต่ 60,000
เหรียญสหรัฐขึ้นไป) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 60,000 เหรียญสหรัฐหรือรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 200,000
เปโซขึ้นไป) โดยผลสำรวจจัดทำโดยเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (The Nielsen Company) และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ทั้งจากสถาบันการเงินและสื่อมวลชนใน 12 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย