ก.ล.ต. สั่งให้ THL แก้ไขงบการเงินประจำปี 2549 และไตรมาส 1 ปี 2550

ข่าวทั่วไป Monday June 25, 2007 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“THL”) แก้ไขงบการเงินประจำปี 2549 และไตรมาส 1 ปี 2550 โดย ให้ (1) บันทึกส่วนแบ่งของผลผลิตทองคำในปี 2549 ที่ต้องจ่ายรัฐจำนวน 4.1 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในปี 2549 และตัดรายการนี้ออกจากค่าใช้จ่ายของไตรมาส 1 ปี 2550 และ (2) เปิดเผยค่าปรับ 11.6 ล้านบาท จากการคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เป็นเหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบดุลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2549 และ (3) พิจารณาค่าบริการทางกฎหมาย 4.7 ล้านบาท ว่าหากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาซึ่งเงินกู้ ให้บันทึกเป็นรายการรอการตัดบัญชีโดยทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง นับแต่วันได้รับเงินกู้ในระหว่างไตรมาส 1 ปี 2550 ทั้งนี้ THL ต้องส่งงบการเงินฉบับแก้ไขที่ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานโดยผู้สอบบัญชีภายในวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2550
สาเหตุของการสั่งการข้างต้นเนื่องจาก ก.ล.ต. โดยคำแนะนำของคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติด้านบัญชีและบรรษัทภิบาล ได้พิจารณาคำชี้แจงและหลักฐานของ THL แล้วเห็นว่า การบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินงวดดังกล่าวไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี ดังนี้
1. ส่วนแบ่งผลผลิตทองคำในปี 2549 ที่ต้องจ่ายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (“กพร.”)ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำระหว่าง กพร. กับ THL และบริษัทย่อย ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2534 กำหนดให้ THL และบริษัทย่อย ต้องแบ่งผลผลิตแร่ให้แก่ กพร. ในอัตรา 1.5% ของผลผลิตหลังจากชำระค่าภาคหลวง โดยที่บริษัทย่อยเริ่มมีผลผลิตแร่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 บริษัทย่อยจึงมีภาระผูกพันในการแบ่งผลผลิตแล้ว ซึ่งตามมาตรฐานการบัญชี บริษัทย่อยต้องบันทึกหนี้สินตามภาระผูกพันนั้นด้วยจำนวนประมาณการที่ดีที่สุดโดยยึดหลักความระมัดระวัง
สำหรับเหตุผลที่ THL ชี้แจงว่า ณ สิ้นปี 2549 การกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการแบ่งผลผลิตกับ กพร. ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมูลค่าที่ต้องจ่ายชำระ (เช่น ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ราคาใดเป็นฐานคำนวณมูลค่าผลผลิต) ทำให้ไม่สามารถประมาณมูลค่าส่วนแบ่งผลผลิตได้อย่างน่าเชื่อถือนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจาก ณ สิ้นปี 2549 THL มีข้อมูลเพียงพอทั้งเรื่องปริมาณทองที่ผลิตซึ่งเป็นข้อมูลภายในของ THL เอง
ราคาทองที่เผยแพร่ของตลาดลอนดอน หรือราคาที่ประกาศโดยอธิบดี กพร. ซึ่งเป็นเกณฑ์เรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่ โดย THL มีการจ่ายชำระค่าภาคหลวงแร่แล้วในปี 2549 ประกอบกับ THL มีประสบการณ์ทำธุรกิจเหมืองแร่มายาวนาน THL จึงอยู่ในวิสัยจะประมาณมูลค่าส่วนแบ่งผลผลิตที่สมเหตุสมผล เพื่อบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินในงบการเงินประจำปี 2549 ได้
2. ค่าปรับจากการคืนเงินกู้ก่อนกำหนด
ในเดือนมกราคม 2550 THL มีการเบิกเงินกู้จากธนาคารใหม่เพื่อจ่ายชำระคืนเงินกู้จากธนาคารเดิมก่อนครบกำหนด ซึ่ง THL ได้เปิดเผยเรื่องการคืนเงินกู้เป็นเหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบดุล ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2549 แล้ว แต่ THL ไม่เปิดเผยเรื่องการจ่ายค่าปรับจากการคืนเงินกู้ก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลว่า หากจะเปิดเผยค่าปรับจากการคืนเงินกู้เดิมก็ควรเปิดเผยข้อดีของเงินกู้ใหม่ด้วย เพื่อให้ข้อมูลในงบการเงินมีความเป็นกลางหรือปราศจากความลำเอียง แต่ขณะนั้น THL ยังไม่อาจเปิดเผยข้อดีหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเงินกู้ใหม่ได้ เพราะสัญญาเงินกู้ใหม่ยังจัดทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หากเปิดเผยออกไปอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดและเกิดผลเสียหายตามมาได้
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจาก ก่อนออกงบการเงินประจำปี 2549 สัญญาเงินกู้และสัญญาประกอบเงินกู้ทั้งหมดมีการลงนามเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2550 THL จึงอยู่ในวิสัยที่จะทราบข้อตกลงของเงินกู้ใหม่โดยครบถ้วน ประกอบกับค่าปรับ 11.6 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานไตรมาสถัดไปอย่างมีสาระสำคัญ THL พึงต้องเปิดเผยเรื่องการจ่ายค่าปรับ ควบคู่กับการเปิดเผยเรื่องการคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เป็นเหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบดุล ด้วย และหาก THL ประสงค์จะเปิดเผยข้อดีของเงินกู้ใหม่ไว้ด้วย
ก็สามารถทำได้
3. ค่าบริการทางกฎหมาย
ค่าบริการทางกฎหมาย 4.7 ล้านบาท ซึ่ง THL ชี้แจงว่า เกิดจากธนาคารต่างประเทศที่ให้กู้ยืมเงินแก่ THL ได้ติดต่อว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายให้ร่างสัญญาเงินกู้และสัญญาประกอบเงินกู้ ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายให้บริการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2550 จึงส่งใบเรียกเก็บค่าบริการให้ธนาคาร และธนาคารนำมาหักจากบัญชีเงินฝากของ THL และ THLบันทึกค่าบริการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในงบการเงินงวดไตรมาส 1 ปี 2550
ก.ล.ต. พิจารณาแล้ว เห็นว่า หากค่าบริการทางกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาซึ่งเงินกู้ ตามมาตรฐานการบัญชีจะถือว่ารายจ่ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดเงินกู้ จึงต้องบันทึกรอการตัดบัญชีโดยแสดงสุทธิจากเงินกู้ และทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง นับแต่วันได้รับเงินกู้ ดังนั้น จึงได้แจ้งให้ THL พิจารณาข้อเท็จจริงของการเกิดค่าบริการดังกล่าวและบันทึกรายการให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ