กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--อาร์เอส
บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ในเครือ อาร์เอส ไม่หวั่น เตรียมตัวรับการมาของ 3 G ศึกษา ทำการบ้าน ควบคู่กับการเตรียมการ และสร้างระบบในการบริหารลิขสิทธิ์เพลงไว้อย่างชัดเจน หวังป้องกันและตอบโจทย์ให้กับเจ้าของสิทธิ์ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์น้อยที่สุด มองอนาคตการละเมิดสิทธิ์ผลงานเพลงจะยังไม่หมดไป แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามการพัฒนาของเทคโนโลยี พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อให้ผู้ที่ใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์หันมาใช้งานลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
นายสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการ บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด หรือ TCC ในเครือ บมจ.อาร์เอส เปิดเผยว่า TCC ในฐานะองค์กรกลางในการบริหารลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้กับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือทั้งหมด ให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน อาร์เอสฯ เป็นเจ้าของสิทธิผลงานเพลงประมาณ 20,000 กว่าบทเพลง หรือ 20,000 กว่ามาสเตอร์ ตั้งแต่ อาร์เอสฯ เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หรือ กว่า 36 ปี TCC ในฐานะเป็นผู้บริหารสิทธิและบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการบริหารและนำผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมดไปขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนั้น TCC ยังเป็นผู้บริหารสิทธิในช่องทางธุรกิจอื่นๆ ในการนำผลงานเพลงไปต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งช่องการนำไปใช้งานมีอยู่อย่างหลายหลาย อาทิ ตู้หยอดเหรียญคาราโอเกะ , บูธหยอดเหรียญคาราโอเกะ , ห้องโถงหรือห้องวีไอพีคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ที่ TCC บริหารมากว่า 10 ปี ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่ TCC มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนั้นคือ เพิ่มช่องทางการบริหาร Shop มือถือ , ร้านจำหน่ายมือถือ , ร้านให้บริการมือถือไม่ว่าจะเป็นการซ่อม การโหลดเพลงเสียงเรียกเข้า ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ TCC พัฒนาขึ้นมา แล้วอนุญาตให้ใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์และคิดค่าผลตอบแทน โดยประมาณการว่า Shop มือถือทั่วประเทศมีประมาณ 50,000 ร้านค้า แต่อย่างน้อย 50% ของร้านค้าทั้งหมด น่าจะนำผลงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ อาร์เอสฯ ไปใช้บริการใส่ผลงานเพลงลงในโทรศัพท์มือถือ จะเห็นได้ว่าตัวเลขรวมของประชากรทั่วประเทศที่มีมือถืออยู่ที่ประมาณ 60 กว่าล้านเครื่อง ช่องทางนี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ อันจะทำรายได้ให้กับ TCC ได้อีกด้วย
สำหรับการเข้ามาของระบบ 3G ที่กำลังจะใช้งานได้จริงในเมืองไทย ก็เท่ากับว่าเรามีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้คอนเทนต์ไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะดวก ง่ายดาย ผู้ที่เสพสื่อบันเทิงของ อาร์เอสฯ ก็สามารถรับ และเข้าถึงความบันเทิงที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีเข้ามา ถ้าหากเรามองให้รอบด้าน ก็อาจกลายเป็นดาบ 2 คมในเรื่องของการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา จึงทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์จำเป็นต้องศึกษาและทำการบ้านในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ควบคู่กับการเตรียมการ และสร้างระบบในการบริหารลิขสิทธิ์เพลงไว้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถป้องกัน ตอบโจทย์ และสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสิทธิได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าการบริหารการจัดการไม่ดีพอ การปกป้อง และการบังคับใช้กฎหมายก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากต่อการป้องกันและปราบปราม
สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคตพบว่า ยังมีปัญหาในช่องทางของสื่อต่างๆ ค่อนข้างสูง โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกละเมิดฯ 5 ลำดับได้แก่ ซีดี , Shop มือถือ , เคเบิ้ลทีวี , โทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน ตามลำดับ คาดว่าในอีก 2-3 ปี ข้างหน้าการละเมิดลิขสิทธิ์จะยังไม่หมดไป หากแต่จะเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อประเภทซีดีมีแนวโน้มที่ต่ำลง เพราะผู้บริโภคเกิดข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณเพลง ซึ่งอาจจะไม่สะดวก ประกอบกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิตอล อีกทั้งยังมีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตซีดี อยู่ที่ประมาณ 38 โรงงาน ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ลดลง แต่จะหันไปใช้การก๊อปปี้ (Copy) แผ่นตามบ้าน หรือ แผ่นผี มากขึ้น ซึ่งหากนำไปจำหน่ายในท้องตลาดก็จะทำรายได้สูงมาก หรือคิดเป็นกำไรได้ถึง 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตเพียงแผ่นละ 8 บาท
นายสุทธิศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของภาครัฐก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิ สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนในสมัยรัฐบาลนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะผู้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการผลักดันในเรื่องของการคุ้มครอง ส่งเสริมและการรักษาสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (ได้มีการตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี) โดยจะประสานงานกับทางภาครัฐทั้งหมด ในอนาคต TCC จะมีภารกิจในเรื่องของการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อให้ผู้ที่ใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์หันมาใช้งานลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องจากเจ้าของสิทธิอย่างแท้จริง และจะลดเครื่องมือของการบังคับใช้กฎหมายลง เพื่อที่จะให้ทุกคนใช้และเข้าถึงสื่อบันเทิงได้อย่างถูกต้อง
“ สำหรับรายได้ของ TCC ในปี 53 เราตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไว้ที่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ในอนาคต TCC มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ว่า ตราบใดที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยังมีหน่วยธุรกิจ ตราบนั้นความจำเป็นที่ต้องใช้ซอฟแวร์ของ อาร์เอสฯ ก็ยังมีอยู่เพราะฉะนั้นธุรกิจทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะผลงานอันมีลิขสิทธิ์เพลงก็สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ตลอดเวลา หากมีการเตรียมการที่ดีพอ ” นายสุทธิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย