กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ.ห่วงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเข้าข่ายวิกฤติจี้หามาตรการรับมือก่อนเปิดฤดูท่องเที่ยวหวั่นกระทบหนัก
นักวิชาการ ม.อ.พบสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเข้าข่ายวิกฤติ ชี้ปี 53 รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอ หลังพบปะการังแถบอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งตายและเสื่อมโทรมกว่า 70% ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศชี้ชัดต้องเร่งหามาตรการฟื้นฟู หวั่นเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวเดือน พ.ย. ซ้ำเติมปัญหาให้เข้าขั้นร้ายแรงหนัก
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หัวหน้าโครงการสำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพแนวปะการังและผลกระทบของการฟอกขาวที่มีต่อระบบนิเวศแนวปะการังในน่านน้ำไทย และอาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อสรุปสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งจัดโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านแนวปะการังเข้าประชุม จำนวน 80 ท่าน ได้มีการรายงานถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2553 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์วิกฤติของแนวปะการังรุนแรงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยประสบมา
ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบแนวปะการังหลายบริเวณทั้งอ่าวไทยและอันดามันตายและเสื่อมโทรมลงมากกว่า 70% จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีแนวปะการังเขากวาง ที่ส่วนใหญ่จะตายเกือบหมด ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศแนวปะการัง และกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง
อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวด้วยว่า นักวิชาการยังพบว่า ยังมีบางพื้นที่ที่ขาดความรู้ถึงสถานการณ์การตายของแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาว โดยเฉพาะพื้นที่แนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทางฝั่งทะเลอันดามันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากฤดูกาลท่องเที่ยวจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรการการจัดการที่เหมาะสมเข้ามารองรับแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ประชุมวิชาการจึงได้เสนอให้อุทยานแห่งชาติต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เร่งประเมินสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในสภาวะปัจจุบัน และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้แนวปะการังได้รับการฟื้นคืนสภาพทั้งโดยธรรมชาติ และการช่วยเหลือจากมนุษย์
“แนวปะการังหลายบริเวณอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการจัดการใดๆ สามารถปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะทุกวันนี้มีการใช้ประโยชน์อย่างมาก ดังนั้น อาจจะต้องมีการกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม การป้องกันผลกระทบจากกิจกรรมอื่นๆ เช่น ควบคุมไม่ให้มีน้ำทิ้งหรือเศษอาหารจากเรือท่องเที่ยว ที่พัก และกิจกรรมบริเวณชายฝั่งทะเลลงสู่แนวปะการัง ขณะที่แนวปะการังบางบริเวณอาจจะจำเป็นต้องปิด ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่นๆ ในขณะที่แนวปะการังบางบริเวณจะต้องได้รับการฟื้นฟูด้วยวิธีการที่จำเพาะเหมาะสมสำหรับแต่ละบริเวณ” นายศักดิ์อนันต์กล่าว
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังจะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในสถานการณ์ปะการังฟอกขาวให้เป็นที่รับทราบกันในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวของประเทศ ในขณะที่ทางด้านวิชาการจะต้องเตรียมตัวศึกษาหาองค์ความรู้ และจัดการองค์ความรู้อย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เนื่องมาจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com