ทางออก SME รับค่าเงินบาทแข็ง

ข่าวทั่วไป Friday October 22, 2010 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการSME ธนาคารกสิกรไทย ระดมหา ทางออกผู้ประกอบการ SMEปรับตัวรับค่าบาทแข็ง-ดอกเบี้ยขึ้น ชี้มาตรการภาครัฐยังไม่โดนใจผู้ประกอบการต้องหาแนวทางช่วยเหลือด่วน นักวิชาการแนะต้องปรับตัวระยะสั้น เอ็กซเรย์ตัวเองใหม่ หาตลาดที่เสถียร และระยะยาวเพิ่มมูลค้าสินค้าเลี่ยงแข่งราคา ด้านนายแบงค์ระบุSMEต้องรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงิน และให้แบงก์รองรับความเสี่ยงตลาดต่างประเทศแทน ด้านผู้ประกอบการโอดรัฐต้องหาจุดสมดุลย์ค่าเงิน พร้อมปฏิวัติตัวใหม่ปรับไลน์สินค้าเจาะตลาดในประเทศ แม้บรรยากาศไม่น่าลงทุนจากผลพวงมหกรรมกี่ฬาสีในชาติ ดร.ธีริน วานิชเสนี กรรมการ คณะกรรมการพลังงานทางเลือก หอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าบาทแข็ง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงมีผลกระทบกับผู้ประกอบการSME ในงานสัมมนา “รู้ทันเศรษฐกิจฉบับSME” ที่ได้จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนาคารกสิกรไทยและผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมฟังล้นหลาม ว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อระดมความคิดหาทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะยืดยาว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการผลักดันเงินดอลลาร์สู่ตลาดโลกมากขึ้น ต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของตน ทั้งนี้ช่วงเวลาเดือนกว่าๆ ความเห็นและมาตรการจัดการค่าบาทแข็ง ได้มีมุมมองที่หลากหลาย ในขณะที่รัฐบาล แบงค์ชาติ ต่างออกมาตรการช่วยเหลือที่ล่าช้าเกินไป ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่างย่ำแย่ หลายรายต้องปิดโรงงานผลิตสินค้า และหลายมาตรการที่ออกมาไม่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากนัก ดังนั้นทางออกของประกอบการจะต้องหันมาช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น หันมามองวิกฤตเป็นโอกาส และมอง รู้จักใช้ประโยชน์จากปัญหาเพราะค่าบาทแข็งเราก็สามารถเลือกซื้อของถูกลดต้นทุน ดังนั้นผู้ประกอการSMEที่ทำการส่งออก จะต้องปรับตัวแก้ปัญหาระยะสั้นให้ได้ก่อน หันปรับแนวสินค้าและมาดูตลาดในประเทศ ทำคู่ค้ากับประเทศเราเอง หาทางคุยกับบริษัทประกันเพื่อประกันความเสี่ยง ในขณะที่คู่ค้าต่างชาติก็ควรจะรักษาความสัมพันธ์ไว้เผื่ออนาคตแต่ต้องรู้จักประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน เปิด LC เพื่อให้แบงก์รับความเสี่ยงแทน ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผอ.หลักสูตร ExMBA, UTCC มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากภาวะความเสี่ยงของผู้ประกอบการSME.ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต้นทุนเพิ่ม ปัญหาทางด้านการเมืองส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานมาต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ SME จะต้องหันมาศึกษาองค์ความรู้ ต้องมีการบริหารจัดการ วันนี้ค่าเงินผันผวนแต่ค่าบาทแข็งไม่นานก็ต้องอ่อนตัวเป็นวัฏจักร ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับแผนกลยุทธ์การจัดการภายใน หรือ ควบคุมปัจจัยภายในคือตัวเราเอง ทั้งนี้การปรับตัวจะต้องปรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการปรับตัวระยะสั้นนั้น ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเครืองมือทางการเงินต่างๆ เช่น Forward,Option ต้องทำความเข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไร เพื่อใช้รองรับความเสี่ยงแทนเรา ต้องพิจารณากระจายสินค้าไปสู่ตลาดใหม่ๆที่มีค่าเงินเสถียรมากกว่า ในขณะเดียวกันลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนำเข้าเครื่องจักรซึ่งมาราคาถูก ส่วนการปรับตัวระยะยาว จะต้องให้ความสำคัญผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพิ่มมูลค้าสินค้าเสริมภูมิปัญญาในสินค้า สินค้านวัตกรรมปัญญาและหลีกเลี่ยงสินค้าที่ต้องแข็งขันทางราคา นายนพดล ไพรวัลย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ผู้ประกอบการSME ผลิตปุ๋ยให้กับผู้ประกอบการปุ๋ยยี่ห้อต่างๆมากว่า 300 ยี่ห้อ และเป็นผู้ส่งออกเปิดเผยว่า สำหรับผลกระทบการดำเนินธุรกิจนั้น ได้รับผลกระทบต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์ทางการเมือง ต่อเนื่องมาถึงวิกฤตค่าเงินบาทแข็งส่งผลขาดทุนต่อเนื่อง เพราะได้เปิดอินวอยส์สินค้า75 ตู้คอนเทนเนอร์ช่วงค่าบาท 32บาทต่อดอลลาร์แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 29บาท ส่งผลให้ขาดทุนล่วงหน้า “จริงๆแล้วผมเป็นผู้ประกอบการSME เราอยากค้าขายในประเทศมากว่าต่างประเทศ เพราะเราไม่มีองค์ความรู้ เริ่มแรกเราเปิดLC ไม่เป็น ไม่รู้จักใช้เครื่องมือทางการเงิน รู้สึกว่าการเดินเข้ากู้เงินแบงก์เป็นเรื่องที่ยุ่งยากต้องมีหลักทรัพย์ ธุรกิจจะต้องดำเนินการดีมาต่อเนื่อง ซึ่งถ้าทุกคนดำเนินงานดีก็คงไม่เดินเข้าหาแบงก์ ผมจึงดิ้นรนด้วยตนเอง ที่ผ่านมาที่เรามุ่งค้าขายต่างประเทศแทนขายในประเทศเนื่องจากบรรยากาศในประเทศไม่ดีเลย ไม่ชวนเชิญให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกเช็คช่วยชาติก็ตาม ต่อมาก็เจอเหตุการณ์มหกรรมกีฬาสียิ่งทำให้แย่ลงอีกเนื่องจากเกษตรกรมาอยู่ย่านราชประสงค์ปุ๋ยขายไม่ได้ ตามด้วยเรื่องค่าบาทแข็ง ดอกเบี้ยสูง ผลในฐานะผู้ประกอบการ อยากในรัฐบาลช่วยรักษาค่าบาทไม่ควรต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกที่ผ่านมมารู้สึกว่าล่าช้าไม่ทันการณ์ ส่วนแบงก์ชาติก็ห่วงแต่เรื่องเงินเฟ้อแทนที่หันมาดูค่าเงินมากขึ้น” นายนพดลกล่าวต่อว่า สำหรับการปรับตัวในขณะนี้ได้ปรับไลน์สินค้าอิงธุรกิจเดิม หันมามุ่งทำตลาดในประเทศ แต่ยังคงรักษาความสำพันธ์ลูกค้าต่างประเทศให้คงเดิมเพื่ออนาคตที่ค่าบาทแข็งตัวขึ้น ทางด้านนายบุญเลิศ สุภาผา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิเทศพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากภาวะเสี่ยงค่าเงินบาทแข็งตัว ผู้ประกอบการจะต้องรู้จักใช้เครื่องมืออย่างไร ต้องมีองค์ความรู้ค้าขายกับต่างประเทศ ต้องรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงิน ให้ แบงก์รับความเสี่ยงแทน แบงก์สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ “ การที่ผู้ประกอบการวิ่งค้าขายต่างประเทศต้องรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงินจากธนาคารเพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ เพราะแบงก์มีหน้าที่โอนชำระเงิน ให้สินเชื่อผู้นำเข้าและส่งออก และช่วยดูแลตลาดนำเข้า-ส่งออก ดังนั้นผู้ส่งออกต้องขายล่วงหน้ากับแบงก์ วางเลทฟิกราคาขายเองแบงก์ก็จะรับอัตราความเสี่ยงแทน แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SME จะไม่ได้นำLC มากู้กับแบงก์ แต่ทำตลาดเอง ต้องเจอภาวะความเสี่ยงการวิ่งเก็บเงิน ในขณะที่สัญญาซื้อขายก็มีข้อตกลงมากมายที่มีความเสี่ยง และเมื่อเจอสถานการณ์ค่าเงินก็จะพบกับปัญหาขาดทุนค่าเงินและโดนกดราคาจากคู่ค้าต่างชาติอีก ดังนั้นทางแก้ปัญหาผู้ประกอบการต้องศึกษาเครื่องมือทางการเงินจากธนาคาร สำหรับธนาคารกสิกรไทยเรามีบริการธุรกิจการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศครบวงจร ” นายบุญเลิศกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ