ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 22, 2010 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน (SBCT) ดังนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency Issuer Default Rating (IDR)) เป็น ‘A’ จาก ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นเป็น ‘F1’ จาก ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวเป็น ‘AAA(tha)’ จาก ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตอื่นของธนาคารดังนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘B/C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2 และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้นไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิที่ ‘F1+(tha)’ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCBT เนื่องมาจากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตระยะยาว (IDR) ของบริษัทแม่ คือ Standard Chartered Bank (SC) เป็น ‘AA-’ จาก ‘A+’ นอกจากนี้การปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการทบทวนระดับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่มีต่อบริษัทลูกในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่ 49% อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาในการเพิ่มทุนของ SCBT หากมีความจำเป็นในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ผลการดำเนินงานโดยรวมของ SCBT ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นและคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง การที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ ‘A-’ นั้น สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับที่ไม่สูงนัก และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ SCBT อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT สะท้อนถึงการที่ SC ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการบริหาร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ SC หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT สำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศ (Country Ceiling) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ส่วนอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT ในปัจจุบันถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ นอกจากนี้หากมีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของ ผลกำไร คุณภาพสินทรัพย์ หรือ เงินกองทุน อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร สัดส่วนการถือหุ้น 99.9% ของ SC เป็นนโยบายการลงทุนระยะยาว และ SC ได้มีการควบคุมการบริหารงานผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT SC ได้ทำการเพิ่มทุนจำนวน 7.2 พันล้านบาทให้กับ SCBT เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกลดสัดส่วนการถือหุ้น (Dilution) ในอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดในด้านสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในกรณีที่มีการเพิ่มทุนอีก สำหรับในระยะยาว SCBT อาจต้องพึ่งพากำไรสะสม การจัดสรรสินทรัพย์ และเงินกองทุนชั้นที่ 2 เป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นของ SC เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น ผลการดำเนินงานของ SCBT ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 1.6 พันล้านบาท เทียบกับ 0.2 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและรายได้ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์บริหารเงินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 1% SCBT มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเป็น 1.7 พันล้านบาท หรือ 1.9% ของสินเชื่อรวม ณ ส้นเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องจากการตัดบัญชีหนี้สูญ แม้ว่าสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2552 เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 2 -3 ราย แต่ก็ได้เริ่มทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 4 พันล้านบาท (4.6% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 สภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนหลักประกันต่อสินเชื่อของธนาคารที่ปรับตัวสูงขึ้นและแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากการเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น รวมทั้งอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่อยู่ในระดับสูงถึง 163.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 น่าจะช่วยให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีเสถียรภาพมากขึ้น การระดมเงินและสภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ SCBT ยังมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมที่แข็งแกร่งที่ 18.1% และ 18.3% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 แม้ว่า SCBT จะมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงถึง 1.1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจากการทบทวบระดับเงินกองทุนที่จำเป็นของธนาคาร แต่การจ่ายเงินปันผลในอนาคตของธนาคารจะคำนึงถึงการเติบโตของสินทรัพย์ ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่า SCBT จะดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไว้ในระดับที่สูง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทย SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย และมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ประมาณ 3%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ