กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
วันที่ ๒๐ ตุลาคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลโดยโครงการวิจัยและพัฒนาเด็กหัวใส ฉลาดใช้ไอซีที (ICT YOUTH CONNECT) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เด็กหัวใส ฉลาดใช้ไอซีที” ณ อาคารสัมมนา ๑ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของเยาวชนที่ใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์กว่า ๕๐ คนจากทั่วประเทศ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ทั้งด้าน การศึกษา การพัฒนาสังคมธุรกิจ การสื่อสารสาธารณะ และเพื่อการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ มาจุดประกาย และให้ข้อคิดกับน้องๆ ที่เข้ามาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้
คุณสุพัฒน์กุล ภัคโชค ผู้ออกแบบเว็บไซต์เพื่อการศึกษาชื่อ www.thaigoodbiew.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในการจัดการเรียนรู้ของครูและนักเรียนทั่วประเทศกล่าวว่า ไอซีทีเพื่อการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กส่วนใหญ่เมื่อเดินออกจากห้องเรียน มักไม่มีใครอยากหันกลับมาใส่ใจเรื่องการศึกษา แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือไอที ที่น้องๆ เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ได้ง่ายขึ้น ถ้ามีคนเข้ามาพัฒนาให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์บนระบบไอที ก็จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ของเยาวชนไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการเขียนบล็อกต้องเขียนจากความรู้ ความคิดของตนเอง สรุปเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้คนอื่นเข้ามาอ่าน นอกจากจะผู้เขียนจะได้ความรู้ ยังเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ให้เพื่อนๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาอีกด้วย เป็นต้น สิ่งสำคัญของเยาวชนที่อยากใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ จะต้องมีความคิดที่สร้างสรรค์ ซึ่งก็อาจจะเกิดแนวทางใหม่ๆ ขึ้นมาได้
คุณกรวิกา ก้อนแก้ว จากมูลนิธิกระจกเงา หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษากล่าวว่า การใช้ไอซีทีป็น “เครื่องมือ” ในการทำงานโครงการขององค์กรทำงานพัฒนาสังคมให้บรรลุผลสำเร็จได้ ทั้งใช้เพื่อเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย และลดช่องว่างระหว่างคนทำงานด้วยกัน หรือใช้เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ผู้ใช้จะต้องทราบก่อนว่า เป้าหมายของงาน คืออะไร หรือ ต้องการผลักดันเรื่องอะไร แล้วจึงนำความรู้ เทคนิค ด้านไอซีที มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม จะเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
“ตอนเราทำเรื่องจิตอาสาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยเด็กต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทำให้เขาเครียด หว้าเหว่ มีคนหนึ่งที่มักจะป่วนพยาบาลเรียกร้องความสนใจ เราก็คิดหาวิธีการแก้ปัญหา โดยลองใช้วอคกี้ทอร์คกี้ให้น้องเขาเล่นเขาก็ชอบ เราก็เลยใช้ให้น้องใช้เพื่อสื่อสารกับนางพยาบาลบนหวอด ซึ่งได้ผลดีน้องเขาเลิกป่วนเพราะแม้พยาบาลจะไม่ได้มาหาที่เตียงพยาบาลก็จะวิทยุมาถามว่าน้องทานยาหรือยัง อาบน้ำหรือยังเขาก็จะพูดคุยด้วยและพบว่า น้องมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในเชิงบวกด้วย คือ เดิมน้องจะไม่ค่อยทำตามทำตามคำสั่งของพยาบาลเป็นอย่างดี เพราะเขารู้สึกว่ามีคนคอยห่วงใยเอาใจใส่เขาตลอดเวลา หรือการใช้พาวเวอร์พอยท์ประกอบการเล่านิทาน ก็ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้น สนุกสนาน และมีความสุข เป็นต้น ดังนั้นเด็กอยากเป็นคนฉลาดใช้ไอซีที จะต้องสามารถแมชชิ่งความต้องการของผู้ใช้เข้าหากกัน เราก็สามารถครีเอทีป พัฒนาไปเรื่อยๆ และทราบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของเรามากขึ้น เท่ากับว่าเราควรทำอย่างมีเป้าหมาย”
คุณสิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย จากสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า สถาบันมีบทบาทที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายเพื่อสาธารณะ โดยขณะนี้ได้จัดทำโครงการไอเดียประเทศไทย ให้ประชาชนส่งไอเดียเขามาว่าอยากแก้ปัญหาอะไร แก้อย่างไร จากนั้นให้คณะกรรมชุดหนึ่งเลือกไอเดียที่คนส่งมา พอเลือกได้ก็ให้ประชาชนเลือกไอเดียที่ชื่นชอบ แล้วนำไอเดียดังกล่าวมาจัดโครงการแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป
โครงการนี้เป็นการใช้ไอซีที เพื่อการสื่อสารสาธารณะ บนแนวคิดที่เชื่อว่า ทุกคนมีความคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งถ้าทำคนเดียวอาจไม่สำเร็จ ต้องหาเพื่อนที่มีความคิดใกล้เคียงมาทำงานร่วมกัน เพราะเห็นว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มหันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น โครงการนี้จึงใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสนอความคิดที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เมื่อความคิดของแต่ละคนมารวมกันก็จะเกิดพลังที่จะขับเคลื่อนสังคม จากแต่ก่อนเราต้องรอคอยว่ารัฐบาลจะมาแก้ปัญหาอะไรให้เรา แต่ไอซีทีทำให้เราได้แสดงพลัง ความคิดเห็นสิ่งที่เราอยากให้รัฐบาลทำเพื่อประเทศ
คุณอภิธนะ จีรวงศ์ไกรสร ผู้สร้าง www.designity.com ผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้าผ่านเว็บไซต์โดยใช้ระบบคราวด์ซอสซิ่ง (crowsourcing) กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รู้จักไอซีที และใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวัน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรเยาวชนจะสามารถนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์ให้กับตัวเองได้ ทั้งเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างประโยชน์กับสังคม แต่จะเป็นอย่างนั้นได้เยาวชนจะต้องเริ่มจาก “ความชอบ” ก่อน แต่อย่ามุ่งเจาะลึกเพียงเรื่องเดียว ต้องพยายามเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงความชอบไปสู่ด้านอื่นๆ เพื่อให้มีความรู้ที่กว้างขึ้น เพราะเทคโนโลยี ต่างๆ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
คุณปรัชญา สิงโต ผู้อยู่เบื้องหลัง www.f0nt.com กล่าวว่า ตอนนี้ไอซีทีเป็นเสมือนสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือ น้องจะใช้ไอทีเพื่ออะไร จึงอยากให้เยาวชนค้นหาศักยภาพของตัวเองจากสิ่งที่ชอบ เช่น คนที่ชอบล่นเกม อาจจะลองคิดตั้งคำถามว่า เขาสร้างเกมได้อย่างไร แล้วเราจะสร้างมันขึ้นมาเองได้ไหม หรือบางคนชอบท่องเว็บไซต์ ก็ลองคิดว่าเว็บไซต์เนี่ยเขาทำกันอย่างไร แล้วลองเรียนรู้มัน สร้างมันขึ้นมาได้บ้างไหม หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอนาคตเรียนจบจะทำอาชีพอะไร โดยส่วนตัว ไม่อยากให้น้องคิดมากเรื่องนี้ เพราะในชีวิตคนแต่ละคนที่สุดแล้วมันจะมีจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตเราอีกมากมาย สิ่งที่สำคัญในช่วงวัยเยาวชน คือ ต้องค้นหาความชอบของตัวเองให้ได้
ด้านคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่าเด็กและเยาวชนหลายคน มีความสามารถและความชอบในเรื่องไอซีทีในเชิงบวก มูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที เพื่อให้เกิดการจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สามารถใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ