ประชุม ก.ล.ต. ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค แนะตลาดทุนยึดมาตรฐานสากล ร่วมมือข้ามชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2005 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ก.ล.ต.
ประชุม ก.ล.ต. ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค แนะตลาดทุนยึดมาตรฐานสากล ร่วมมือข้ามชาติ เพื่อสร้างตลาดโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม
องค์กรกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค หรือ IOSCO-APRC (International Organization of Securities Commissions — Asia-Pacific Regional Committee Meeting) จัดสัมมนา
เปิดสามเวทีย่อยถกประเด็นแนวโน้มกฎเกณฑ์กำกับดูแลตลาดทุน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน
และตลาดรอง แนะทุกฝ่ายยึดมาตรฐานสากล และ เพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตลาดทุนภูมิภาค รับกระแสตลาดเสรีโลก
ในระหว่างการประชุม IOSCO APRC ที่ ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ได้มีการจัดงานสัมมนาเชิญผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟังประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดทุนโลก และการเตรียมการรองรับให้เหมาะสมกับตลาดทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันระดับโลก ขณะที่ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลจะได้นำข้อมูล ความคิดเห็นจากการสัมมนาไปปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับสาระสำคัญของการสัมมนานั้น ได้ให้ความสำคัญกับยุคกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization)
ตลาดทุนในระดับภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในขณะที่ธุรกรรมทางการเงินมีความสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนามาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลออกมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้กำกับดูแลตลาดทุนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดในประเทศของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นหลักที่ IOSCO เน้นย้ำเป็นพิเศษ ได้แก่ (1) ความสำคัญและอุปสรรคเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน
ข้อมูล และความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เช่น การใช้ข้อมูลภายใน การฟอกเงิน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 และ (2) การนำ หลักการ แนวทาง และมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุนสากลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตลาดทุน ในแต่ละประเทศ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมลงนามใน IOSCO Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) การวางกรอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และการจัดโปรแกรมให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก รวมถึง การกำกับดูแลตามความเสี่ยง (risk-based approach) ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ การประชุม IOSCO APRC ครั้งนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างตลาดทุนภูมิภาคที่คล่องตัว ปลอดภัย และมั่นคงสำหรับผู้ลงทุน โดยในส่วนขององค์กรกำกับดูแลต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมรับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก
ที่ขยายตัวและสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ hedge fund เพื่อบรรลุ
เป้าหมายของการเป็นตลาดทุนที่มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม และน่าเชื่อถือในส่วนของภาคเอกชนต่างปรับตัวสู่การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีแนวโน้มสำคัญที่จะก้าวสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดไร้พรมแดน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการให้บริการประเภทการวางแผนการลงทุน (financial planner) โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีการยกเลิกระบบประกันเงินฝาก และจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการลงทุนในตลาดทุนมีมากยิ่งขึ้น
ในด้านแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ (exchange) จะมีบริษัทข้ามชาติ (multinational company) มาจดทะเบียนมากขึ้น และ hedge fund ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย จะมีอิทธิพลต่อภาวะการลงทุน อย่างมาก ดังนั้น exchange จึงจำเป็นต้องปรับตัว ทำตัวเป็น supermarket เสนอขาย product ที่มีความ ซับซ้อนและรูปแบบที่หลากหลาย ในขณะที่ exchange เองก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา รวมทั้ง ต้องส่งเสริมให้มีผู้ลงทุนหลากหลายประเภทโดยเข้าถึงตลาดได้โดยง่าย (accessibility)
สำหรับตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากรูปแบบการซื้อขายตราสารหนี้จะมีลักษณะ OTC ที่ผู้ค้าจะต้องตกลง
ซื้อขายกันเอง จึงมีปัญหาขาดข้อมูลซื้อขาย ซึ่งในแนวโน้มในอนาคตจะมีความพยายามทำให้ตลาดมีความโปร่งใสมากขึ้นในลักษณะ centralized OTC เหมือน เช่นประเทศสหรัฐฯ ที่ทางการบังคับให้มีการรายงานข้อมูลซื้อขายไปที่ส่วนกลางและเปิดเผยต่อสาธารณชน และระบบซื้อขาย MTS ที่ธนาคารกลางของประเทศอิตาลีมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ electronic trading platform สำหรับ
ตราสารหนี้ ซึ่งมีผลให้ตลาดมีความโปร่งใสมากขึ้น ในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าทางการมีบทบาทสำคัญ
อย่างมากในการทำให้การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมีความโปร่งใสมากขึ้น
IOSCO (www.iosco.org) ก่อตั้งในปี 2526 เป็นองค์กรระหว่างประเทศของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนกว่าร้อยละ 90 ของตลาดทุนทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 180 ประเทศ ก.ล.ต. ไทยร่วมเป็นสมาชิกของ IOSCO ประเภทสามัญที่มีสิทธิออกเสียงในการประชุม ตั้งแต่ปี 2535
IOSCO APRC มีสมาชิก 21ประเทศ ได้แก่ เกาหลี คีร์กีซสถาน จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ บรูไน
บังคลาเทศ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย มาเลเซีย เวียดนาม ศรีลังกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และไทย--จบ--

แท็ก ตลาดทุน   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ